Follow Us

Story We Share

STORY BY Sasha (Master)

Once upon a time in India (ตอนที่ 10)

Print March 18, 20142,236 views , 0 comments

Once upon a time in India (ตอนที่ 10)
กาลครั้งหนึ่งในอินเดีย-ตามรอยสังเวชนียสถาน

 
ตอนที่แล้วช่วงเช้าเราไปล่องเรือที่แม่น้ำคงคากัน  ในช่วงสายเราเดินกันไปต่อที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศธรรมเป็นครั้งแรก ที่รู้จักกันดีในชื่อ "อิสิปตนมฤคทายวัน" หรือ "ฤๅษีปัตนมฤคทายวัน"  แปลว่า ป่าอันยกให้แก่หมู่กวาง และเป็นที่ชุมนุมฤๅษี เหตุที่ได้ชื่อว่าสารนาถ เนื่องมาจากสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา ธัมมจักกัปวัตตนสูตรแก่พระปัจจวคีย์ทั้ง 5 ซึ่งเป็นสถานที่เกิด สังฆรัตนะขึ้นครั้งแรก และพระรัตนตรัยครบองค์ 3 พระพุทธองค์เริ่มต้นประกาศพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นที่พึ่งแก่มหาชนทั้งหลาย ภายในอาณาบริเวณสารนาถมี ธรรมเมกขสถูป เป็นพุทธสถานขนาดใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุด นมัสการมูลคันธกุฎีที่ประทับของพระพุทธองค์








 




เมื่อเราไปถึงเราก็ไปนั่งสวดมนต์บทธรรมจักรกัปวัตนสูตร และนั่งสมาธิกันตรงบริเวณด้านหน้าของ ธรรมเมกขสถูป ทำให้เราย้อนนึกไปถึงเหตุการณ์สำคัญในอดีตที่เป็นจุดเริ่มต้นในการประกาศธรรมในพระพุทธศาสนา หลังจากนั้นนั้นเราจึงไปเข้าชมพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติประจำเมืองสารนารถ เมื่อเข้าไปสิ่งแรกที่เห็นอยู่ตรงบริเวณกลางห้องคือ หัวสิงห์ยอดเสาอโศกในสารนาถนี้เป็นหัวเสาที่สมบูรณ์ทีสุด ซึ่งเป็นโบราณวัตถุที่สำคัญที่สุดของอินเดีย หัวสิงห์นี้ถูกใช้เป็นตราประจำชาติอินเดียในปัจจุบัน  หัวเสาดังกล่าวเป็นรูปสิงโต 4 ตัว นั่งหลังชนกัน หันหน้าออกไปทั้ง 4 ทิศ กำลังลืมตาอ้าปากคล้ายคำราม ขอบแท่นที่รองรับสิงโตยืนถูกแกะสลักเป็นรูป ราชสีห์, ช้าง, ม้า และ วัว ซึ่งหมายถึง พลังอำนาจ, ความชาญฉลาด, ความปราดเปรียวว่องไว และ ความเข้มแข็งอดทน ตามลำดับ มีหน้าที่คอยพิทักษ์ปกป้องพระธรรมจักร โดยระหว่างสัตว์ทั้งสี่ของฐานจะสลักเป็นรูปวงล้อธรรมจักร ซึ่งนับจำนวนได้ 24 ซี่ ราชสีห์มีอยู่ 4 ประเภทคือ ติณราชสีห์ (สีเขียว), กาฬราชสีห์ (สีดำ), ปัณฑุราชสีห์ (สีเหลือง) และ ไกรสรราชสีห์ (สีขาว) ซึ่งนับว่าเลิศและประเสริฐที่สุดในบรรดาราชสีห์ทั้งสี่ และราชสีห์บนหัวเสาออกไปทางสีครีมคล้ายสีขาว
 
นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปปางทรงแสดงปฐมเทศนา (ธรรมจักรมุทรา) พระพุทธรูปที่มีผู้ยกย่องว่างามที่สุดในอินเดีย ในพิพิธภัณฑ์สารนาถ ซึ่งถือว่าเป็นอีกไฮไลต์หนึ่งภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เหตุผลหนึ่งเพราะขึ้นชื่อว่าความงดงาม เป็นพุทธศิลป์สมัยคุปตะ (พ.ศ.800-1200) อันเป็นยุคทองของอินเดีย แกะมาจากหินทรายแดงออกสีน้ำตาลอ่อน สลักเสลาจนเนียน เป็นปางปฐมเทศนา ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร ยกพระหัตถ์ทั้งสองขึ้นอยู่ในท่าแสดงธรรม นิ้วมือซ้ายทำเป็นวงจีบเข้าหาตัว ทอดพระเนตรลงต่ำ อีกหนึ่งจุดเด่นคือ จีวรไม่มีริ้ว แต่บางแนบสนิทกับพระองค์ และคลุมพระอังสา (ไหล่) ทั้งสองข้าง มีสภาพที่สมบูรณ์มาก แต่ถ้าสังเกตดีดีพระพุทธรูปองค์นี้ถูกทำลายพระนาสิก ปลายพระกรรณขวา นิ้วพระหัตถ์ และนิ้วพระบาทขวา ให้เสียรูปทรง น่าเสียดายมากค่ะ นอกจากนี้เรายังได้เห็นข้าวของเครื่องใช้ พระพุทธรูปในสมัยต่างๆ อีกมากมาย
 
จากนั้นเราจึงกลับมาทอดผ้าป่า ณ วัดไทยสารนาถ ซึ่งสถาปัตยกรรมภายในพระอุโบสถนั้น สวยงามแปลกตามากค่ะ เมื่อได้บุญกันเต็มที่แล้ว เราจึงเก็บข้าวของแล้วเดินทางกลับพุทธคยา ซึ่งใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมง กลับไปพักที่วัดพุทธสาวิกาอีกครั้งไปถึงก็ค่อนข้างดึกแล้ว เราจึงรีบพักผ่อนกันเพราะพรุ่งนี้เราจะต้องเก็บของและเตรียมตัวเดินทางกลับกัลกาต้า เพื่อขึ้นเครื่องบินกับประเทศไทยกันค่ะ









เช้าวันรุ่งขึ้นเรารับประทานอาหารเช้ากันที่วัดพุทธสาวิกา  เก็บข้าวของทุกอย่างเรียบร้อย ก่อนที่จะขึ้นรถเรายังได้ซื้อผ้าพันคอหลากสีอีกหลายผืน ที่มาขายอยู่ทางด้านหน้าวัด จากนั้นเราออกเดินทางกลับไปยัง กัลกัตต้า ระยะทาง 400 กม. ใช้เวลาประมาณ 10 ชม. เป็นการนั่งรถยาวนานครั้งสุดท้ายแล้วก่อนที่เราจะกลับประเทศไทย ทานอาหารกลางวัน และ อาหารเย็นในรถ เข้าสู่สนามบินกลับสู่ประเทศไทย










 
กว่าสิบวันในประเทศอินเดียทำให้เราได้เห็นอะไรมากมาย ที่ไม่สามารถจะชมได้จากที่ไหนในโลก เนื่องจากความหลายหลายทางวัฒนธรรม ประเพณี ที่สืบทอดมาแต่โบราณกาล และที่สำคัญเราได้ไปจาริกแสวงบุญตามรอยพระบรมศาสดา ยังสังเวชนียสถานทั้ง 4 แห่ง นอกจากนี้ยังมีสถานที่สำคัญๆ ทางพระพุทธศาสนาอีกหลายแห่ง ทำให้เราได้เข้าใจถึงความเป็นมาของพระพุทธศาสนาได้กระจ่างชัดมากขึ้น ยิ่งทำให้เราเคารพเลื่อมใสศรัทธาในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นพระบรมครูสอนเราให้เข้าใจธรรมชาติ และสัจธรรมของชีวิต แม้ว่าจะมีความลำบากอยู่บ้างแต่ก็เทียบไม่ได้เลย กับประสบการณ์อันยอดเยี่ยมที่เราได้รับจากการเดินทางในครั้งนี้ และหวังว่าทุกท่านคงจะได้มาสักการะสถานที่สำคัญเหล่านี้ด้วยตัวเองในอนาคต ขอเอาบุญทุกบุญฝากคุณผู้อ่านทุกท่านค่ะ
Tag : Buddhism Buddha Firstsermon สารนารถ ธรรมจักกัปวัตนสูตร ปฐมเทศนา ปัญจวคีย์ทั้ง5 พระรัตนตรัย องค์สาม กัลกาต้า เสาอโศก พระพุทธรูปปางแสดงปฐมเทศนา ธรรมจักรมุทรา พิพิธภัรธ์สารนารถ

Comments to this story

Write a comment


1.  views readmore
ALL Most Viewed
ALL TOP Rated
1.  comments readmore
ALL Most Comment