Follow Us

Story We Share

STORY BY Sasha (Master)

Once upon a time in India (ตอนที่ 8)

Print March 17, 20142,166 views , 0 comments

Once upon a time in India (ตอนที่ 8)
กาลครั้งหนึ่งในอินเดีย-ตามรอยสังเวชนียสถาน
 

เช้าวันนี้ ณ เมืองสาวัตถี เมืองสำคัญของพระพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาล โดยเป็นเมืองหลวงของแคว้นโกศล 1 ใน แคว้นมหาอำนาจใน 16 มหาชนบทในสมัยพุทธกาล เมืองนี้รุ่งเรืองจากการที่เป็นชุมนุมการค้าขาย การทหาร เป็นเมืองมหาอำนาจใหญ่ควบคู่กับเมืองราชคฤห์แห่งแคว้นมคธในสมัยโบราณ ปัจจุบันเมืองนี้เหลือเพียงซากโบราณสถาน ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ที่เมืองนี้ถึง 25 พรรษา โดยแบ่งเป็นจำพรรษาที่วัดพระเชตวันมหาวิหาร 19 พรรษา และวัดบุบพาราม 6 พรรษา ปัจจุบันยังมีซากโบราณสถานที่สำคัญปรากฏร่องรอยอยู่ คือวัดเชตวันมหาวิหาร, บ้านของอนาถบิณฑิกเศรษฐี, บ้านบิดาขององคุลีมาล, สถานที่พระเทวทัตถูกแผ่นดินสูบ (หน้าวัดพระเชตวันมหาวิหาร), ที่แสดงยมกปาฏิหาริย์ แล้วเสด็จไปจำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อแสดงพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา เป็นต้น ดังนั้นวันนี้เราจึงเริ่มต้นด้วยการชมบ้านของท่านทั้งสองกันก่อนค่ะ




 




เนื่องจากผ่านกาลเวลามาหลายพันปี ว่ากันตามเหตุผลแล้วก็ไม่ได้เหลืออะไรให้เห็นเป็นตัวบ้านชัดเจนค่ะ เห็นเป็นเพียงโครงสร้างบ้าน และสถูปสูงใหญ่ที่มีลักษณะเด่นคือ เป็นชั้นหินไล่เรื่อยกันลงมาเป็นขั้นบันไดทีเดียว ซึ่งทำให้เรารู้ว่าสถานที่ตรงนี้เป็นบ้านของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีมาก่อน ตอนเช้าๆแบบนี้ อากาศกำลังเย็นสบายค่ะ แถมยังเห็นพระอาทิตย์ในช่วงรุ่งสางลอยเด่นอยู่ เมื่อขึ้นไปบนจุดสูงสุดของสถูปเราจึงมองเห็นวิวทิวทัศน์สวยงามบริเวณรอบๆ และก็ถ่ายรูปกันเพลินเลยค่ะ
 
จากนั้นเราก็แวะไปยังบ้านองคุลีมาล ซึ่งอยู่เยื้องๆกัน นิดเดียวเท่านั้นค่ะ บ้านองคุลีมาลนี้ยังคงมีสภาพให้เห็นเป็นบ้านอยู่พอสมควร ซึ่งสร้างด้วยหิน แต่ล้อมรั้วเอาไว้ไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปค่ะ มองเข้าไปเห็นเป็นช่องเล็กๆ เหมือนทางเข้าไปภายในได้ด้วย เราก็ได้เดินชมบริเวณรอบๆ และแน่นอนค่ะ มีเหล่าพ่อค้ามาขายของพวกเราเต็มไปหมด พร้อมด้วยขอทานที่มักจะมารอนักท่องเที่ยวอยู่ตามสถานที่สำคัญๆ เหล่านี้ ซึ่งคราวนี้ก็ได้พวงกุญแจมาพวงใหญ่เลย เอาไปเป็นของฝากให้เพื่อนๆที่เมืองไทยค่ะ






 
จากนั้นเราจึงนั่งรถต่อไปอีกนิดหน่อยมุ่งหน้าไปยังวัดพระเชตวันมหาวิหาร หรือ วัดเชตวัน ซึ่งเป็นที่จำพรรษานานที่สุดของพระพุทธองค์ โดยท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีได้บริจาคทรัพย์ซื้อที่ดิน และสร้างถวายอย่างน่าอัศจรรย์ คือ เอาเงินไปปูเรียง(บ้างก็ว่าเป็นทองคำ)ในพื้นที่ทั้งหมดของวัดพระเชตวันเพื่อเป็นปัจจัยในการซื้อที่ดินจากเจ้าเชตุ เนื่องจากแต่เดิมที่นี่เป็นพระราชอุทยานสำหรับเสด็จประพาสของเจ้าเชต เจ้าชายในราชวงศ์โกศลแห่งเมืองสาวัตถี เป็นพระราชอุทยานร่มรื่นนอกตัวเมืองหลวง มีเนื้อที่ 80 ไร่ เมื่อท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีไปพบเข้าเห็นว่าเหมาะจะใช้สร้างวัดเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาได้จึงได้เจรจาขอซื้อจากเจ้าเชต ใจจริงแล้วเจ้าเชตไม่อยากขาย จึงแกล้งบอกว่าถ้าอยากซื้อก็ให้นำเอาเงินมาปูให้เต็มพื้นที่จึงจะขายให้โดยไม่คิดว่าท่านเศรษฐีจะทำจริงๆ แต่เมื่อท่านเศรษฐีทำจริง ในที่สุดจึงต้องขายตามที่ได้ลั่นวาจาไว้ โดยเมื่อเงินถูกปูจนเกือบเต็มพื้นที่ เจ้าเชตจึงขอให้หยุดเพราะส่วนที่เหลือนั้น เจ้าเชตประสงค์จะร่วมบุญด้วย ภายหลังเมื่อสร้างวัดแล้วจึงตั้งชื่อวัดเพื่อให้เกียรติแก่เจ้าเชตว่า “วัดเชตวันมหาวิหาร” โดยเฉพาะค่าที่ดินนั้นรวมเป็นมูลค่าถึง 18 โกฏิ และสำหรับมูลค่าในการก่อสร้างวัดอีก 36 โกฏิ รวมทั้งสิน 54 โกฏิ (1 โกฏิ เป็น 10 ล้าน :  54 โกฏิ ก็เทียบเป็นเงินที่ประมาณ 540 ล้าน)

เมื่อเราไปถึงวัดพระเชตวันเราก็เดินผ่านสวนสวยเข้าไป ซึ่งระหว่างทางมีซากหิน ซึ่งเป็นสถานที่ต่างๆ ในบริเวณวัดพระเชตวันอยู่เป็นระยะๆ โดยมากเป็นซากหินที่เป็นแนวสี่เหลี่ยมอยูตลอดสองข้างทาง ซึ่งพระมัคกุเทศน์ท่านก็ได้พาพวกเราไปยังบริเวณที่สำคัญๆ คือ พระคันธกุฎีของเหล่าพระอรหันตสาวก เช่น พระสิวลี พระสาลีบุตร และพระโมคคัลลานะ ที่อยู่บริเวณรอบๆ พระคันธกุฎีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งอยู่เป็นศูนย์กลางของวัดพระเชตวัน เมื่อเราไปถึงก็เห็นดอกไม้มากมายประดับประดาพระคันธกุฎีของพระพุทธองค์ อย่างสวยงามมาก ซึ่งเราแน่ใจว่าเป็นของกลุ่มพุทธศาสนิกชนชาวศรัลังกาที่เดินทางมาถึงที่นี่ก่อนเรา เราเข้าไปปิดทองที่บริเวณที่สักการะบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมีคนมาปิดทองกันมากมายจนกระทั่งหินกลายเป็นสีทองอร่ามสวยงาม




 




เรามารวมตัวกันที่ลานฟังธรรม ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากพระคันธกุฎีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านัก บริเวณนี้เป็นลานกว้างทรงสี่เหลียมจตุรัส (แต่ก็ไม่รู้ว่าจตุรัสจริงๆ รึเปล่า เอาว่าใกล้เคียงจตุรัสก็แล้วกันค่ะ) โดยมีแท่นหินยาวอยู่บริเวณด้านขวา สันนิษฐานว่าเป็นแท่นที่พระภิกษุใช้นั่งเพื่อแสดงพระธรรมเทศนา พวกเราไปนั่งสวดมนต์ และนั่งสมาธิกันตรงบริเวณนี้ล่ะค่ะ ได้มานั่งสมาธิกันในวัดพระเชตวัน ทำให้รู้สึกเหมือนตัวเราได้ย้อนอดีตเป็นพุทธศาสนิกชนที่มาเข้าวัดฟังธรรมกันที่วัดพระเชตวันเหมือนเมื่อครั้งพุทธกาล ซึ่งที่นี่แม้ว่าจะเหลือเพียงซากหินปรักหักพัง แต่ยังคงไว้ซึ่งความร่มรื่นตั้งแต่ย่างก้าวเข้ามาก็รู้สึกว่ามีอารมณ์สบายเกิดขึ้นในทันที มิน่าท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีจึงสร้างที่นี่ให้เป็นศูนย์กลางพุทธศาสนา








 
เมื่อเราเดินออกมาตามทางเราเห็นต้นโพธิ์ใหญ่ต้นหนึ่งแผ่กิ่งก้านสาขาไม่แพ้ ต้นโพธิ์ที่พุทธคยาเลยทีเดียว จึงได้ทราบว่าต้นโพธิ์นี้คือ “อานันทโพธิ์” ซึ่งเป็นต้นโพธิ์ที่พระอานนท์นำมาปลูกเอาไว้ เรื่องราวก็มีอยู่ว่า เนื่องจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามิได้ประทับอยู่ที่วัดพระเชตวันตลอดทั้งปี แต่ละปีทรงประทับอยู่ที่นี่หลักๆเพียง 3 เดือนในพรรษาเท่านั้น ในยามที่พระองค์ท่านไม่อยู่ ชาวนครสาวัตถี จึงพากันเกิดความเดือดร้อนใจ เกิดความอ้างว้างใจ เหมือนขาดที่พึ่ง จึงอยากจะหาสิ่งที่จะเป็นเครื่องระลึกแทนองค์พระพุทธเจ้าได้ เมื่อพระอานนท์ทราบจึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์จึงรับสั่งให้นำกิ่งโพธิ์ ที่ตำบลพุทธคยา มาปลูกไว้ที่หน้ามหาวิหารเชตวันเพื่อเป็นเครื่องหมายแทนพระองค์ ให้เป็นที่บูชากราบไหว้ของชนทั้งหลาย พระมหาโมคคัลลานะ อัครสาวกฝ่ายซ้ายจึงทูลอาสาแสดงฤทธิ์โดยเหาะไปถึงตำบลพุทธคยา นำกิ่งโพธิ์กลับมายังวิหาร เชตวันได้ในวันนั้น โดยให้ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นผู้ปลูก เมื่อปลูกเสร็จก็ได้มีการฉลองต้นโพธิ์  และพระพุทธองค์ก็ได้เสด็จประทับนั่งอยู่ภายใต้ต้นโพธิ์ หนึ่งราตรี ตั้งแต่นั้นมาชาวเมืองก็พากันกราบไหว้ต้นโพธิ์นี้แทนพระพุทธเจ้า และเรียกต้นโพธิ์ต้นนี้ว่า “อานันทโพธิ์” และต้นโพธิ์ต้นนี้ยังมีอายุยืนตั้งอยู่ ณ ภายในวัดพระเชตวันมหาวิหาร นครสาวัตถี รัฐอุตตประเทศ สาธารณรัฐอินเดีย ตราบเท่าถึงปัจจุบันนี้ เราจึงเข้าไปกราบนมัสการต้นโพธิ์ต้นนี้กันค่ะ




 
หลังจากนั้นเราจึงออกเดินทางกันอีกครั้งไปยังเมืองพาราณสี ระยะทางประมาณ 280 กม. ใช้เวลาประมาณ 8 ชม. นั่งรถยาวกันตามปกติ กว่าจะไปถึงก็ค่ำมืดตามเคย คืนนี้เราเข้าพักวัดไทยสารนารถกันค่ะ สำหรับวันพรุ่งนี้เราจะได้ไปนั่งเรือล่องแม่น้ำคงคากันตั้งแต่เช้า และไปยังสถานที่แสดงปฐมเทศนาของพระพุทธองค์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน หรือ ธัมเมกขสถูป ตื่นเต้นค่ะ อยากไปแม่น้ำอันเป็นตำนานแห่งนี้มานานแล้วค่ะ เราเลยรีบพักผ่อนนอนเอาแรงกันให้เต็มที่เลยล่ะค่ะ
Tag : Buddhakaya India Buddha BodhiTree Ananta พระอานนท์ พระโมคคัลลานะ ต้นโพธิ์ อานันทโพธิ์ วัดพระเชตวัน พระคันธกุฎี สาวัตถี วัดบุพพาราม อนาถบิณฑิกเศรษฐี องคุลีมาล

Comments to this story

Write a comment


1.  views readmore
ALL Most Viewed
ALL TOP Rated
1.  comments readmore
ALL Most Comment