วันมาฆบูชา วันแห่งความรักในพระพุทธศาสนา
ชวงเดือนกุมภาพันธ์แบบนี้เป็นเดือนที่ใครๆ ก็รู้ว่าเป็นเดือนแห่งความรัก เพราะวันที่ 14 กุมภาพันธ์ เป็นวันวาเลนไทน์นั่นเองค่ะ ซึ่งวันนี้ผู้คนมักจะมอบของที่แสดงให้คนที่เรารักรู้ถึงความรักที่เรามีต่อเขา ไม่ว่าจะเป็น พ่อ แม่ ญาติพี่น้อง หรือ คนรัก เป็นเทศกาลที่อบอุ่นมากค่ะ
แต่สำหรับพุทธศาสนิชน เราต่างรู้ดีว่าในช่วงเดือนกุมภาพันธ์แบบนี้เป็นช่วงเทศกาลวันสำคัญททางพระพุทธศาสนาซึ่งก็คือ “วันมาฆบูชา” ค่ะ ในช่วงปีหลังๆมานี้ เรามักจะรณรงค์ให้วันนี้เป็นวันแห่งความรักในพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันทีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านได้ประทานโอวาทอันทรงคุณค่าแก่เหล่าพุทธบริษัท 4 ด้วยความรักความเมตตาอย่างเปี่ยมล้น เพื่อการธำรงค์รักษาพระพุทธศาสนาไว้ให้คงอยู่คู่กับโลกใบนี้ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งจะนานเท่าไหร่นั้นก็ขึ้นอยู่กับพวกเราทุกคนค่ะ ว่าจะรวมกันเป็นหนึ่งแล้วสืบทอดพระพุทธศาสนาไปได้ยาวไกลแค่ไหน
ในฐานะชาวพุทธเรามาดูกันว่าวันนี้มีความสำคัญอย่างไรบ้าง วันมาฆบูชา "มาฆบูชา" ย่อมาจาก "มาฆปูรณมีบูชา" ค่ะ ซึ่งหมายถึงการบูชาในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะ ตามปฏิทินของอินเดีย หรือเดือน 3 ตามปฏิทิจันทรคติของไทย โดยปกติมักจะตกช่วงเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม นับตั้งแต่วันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านได้ตรัสรู้ธรรมเป็นเวลา 9 เดือนเต็ม ท่านก็ได้เร่งเผยแผ่พระสัทธรรมคำสอนอันเป็นสัจธรรมเรื่อยมา จนกระทั่งท่านได้มาประทับอยู่ที่กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ ซึ่งมีพระเจ้าพิมพิสารเป็นกษัตริย์ผู้ครองนครอยู่ในขณะนั้น เมื่อพระองค์ได้สดับพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน แล้วภายหลังจึงได้ถวายสวนป่าไผ่ หรือ เวฬุวัน ให้เป็นสถานที่ในการสร้างวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา เรียกว่า “วัดเวฬุวันมหาวิหาร” และที่แห่งนี้เองที่พระพุทธเจ้าได้ใช้เป็นสถานที่ในการประชุมสงฆ์เป็นครั้งแรกในพระพุทธศาสนา
ในวันนี้มีความสำคัญอย่างที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้นว่า เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านได้ประทานโอวาทอันทรงคุณค่า คือ โอวาทปาติโมกข์ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น “หัวใจของพระพทธศาสนา” เลยทีเดียว มีใจความว่าให้ทุกคน “งดเว้นความชั่วทั้งปวง ทำความดีให้ถึงพร้อม ทำใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “ละชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใส” ค่ะ โดยในรายละเอียดได้นำมาเล่าให้ฟังกันแล้วในตอน “หัวใจพระพุทธศาสนา” ลองกลับไปอ่านกันได้นะคะ
ไม่เพียงแค่นั้นค่ะจุดเด่นของวันนี้ คือ “จาตุรงคสันนิบาติ” หรือ วันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ 4 อันมีเหตุอัศจรรย์ปรากฎขึ้น 4 ประการด้วยกัน ดังนี้
- พระสงฆ์สาวกมาประชุมพร้อมกันทั้ง 1,250 รูป โดยมิได้นัดหมาย
- พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดต่างล้วนเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" หรือผู้ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง
- พระสงฆ์ทั้งหมดที่มาประชุมล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญา 6
- วันดังกล่าวตรงกับวันเพ็ญ (พระจันทร์เต็มดวง) มาฆปุรณมีดิถี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3
เราอาจได้ยินได้ฟัง หรือ เรียนกันมาตั้งแต่เด็กๆ ถึงความสำคัญ 4อย่างนี้ ซึ่งบางท่านอาจจะฟังเป็นเหมือนเรื่องเล่า หรือ นิทานปรัมปรา ซึ่งไม่คิดว่าจะมีเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้นจริงๆ ซึ่งบางเรื่องดูจะเป็นเรื่องเหลือเชื่อ เช่น พระสงฆ์มารวมกันได้อย่างไรโดยมิได้นัดหมาย หรือ แล้วพระสงฆ์ที่บวชโดยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอย่างไร แล้ว อภิญญา 6 คืออะไร เป็นต้น เรามาค่อยๆ ดูกันค่ะ
พระอรหันต์ คือ พระอริยบุคคลที่สามารถฝึกฝนตนเองขจัดกิเลส เจริญสมถวิปัสสนาจนกระทั่งหมดกิเลส ได้อภิญญา 6 ซึ่งแปลว่า ความรู้ยิ่ง หมายถึงปัญญาความรู้ที่สูงเหนือกว่าปกติ ในที่นี้หมายถึง คุณสมบัติพิเศษของพระอริยบุคคลซึ่งเป็นเหตุให้มีอิทธิฤทธิ์ต่างๆ มี 6 อย่าง คือ
- อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ได้ เช่น ล่องหนได้ เหาะได้ ดำดินได้
- ทิพพโสต มีหูทิพย์
- เจโตปริยญาณ กำหนดรู้ใจผู้อื่นได้
- ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ระลึกชาติได้
- ทิพพจักขุ มีตาทิพย์
- อาสวักขยญาณ รู้การทำอาสวะให้สิ้นไป
จากการที่พระอรหันต์ท่านมีอภิญญานี้เอง ทำให้ท่านรู้วาระจิตผู้อื่นได้ เมื่อถึงวาระที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านเห็นควรแก่เวลาในการเผยแผ่พระธรรมคำสอนที่พระองค์ได้ตรัสรู้ธรรมมาแล้ว ท่านจึงเรียกประชุมพระอรหัสตสาวกทุกพระองค์ในเวลานั้น ด้วยการสื่อสารกันภายใน ด้วยวาระจิต โดยที่ไม่ต้องมีการเขียนกำหนดการนัดหมายใดๆ หรือใช้อุปกรณ์สื่อสารชนิดใดทั้งสิ้น เวลาที่ท่านผู้รู้ทั้งหลายเข้าถึงธรรมกันแล้ว ภายในท่านจะสามารถเชื่อมถึงกันได้ ขอให้เรานึกเปรียบเทียบกับระบบอินเตอร์เน็ตก็แล้วกันค่ะ เมื่อใดที่เราเชื่อมกับระบบออนไลน์แล้ว เราก็สามารถ chat กันได้หมด ฉันใดก็ฉันนั้นค่ะ เมื่อทุกองค์มีญาณทัสสนะแล้วก็เท่ากับว่า ได้เข้าสู่ระบบออนไลน์ คราวนี้จะพูดคุยกันอย่างไรก็ไม่มีปัญหา...นี่เองคือเหตุผลว่าทำไม การประชุมรวมกันโดยมิได้นัดหมายจึงเกิดขึ้น
สำหรับการบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทานั้น ต้องบอกว่าเป็นการบวชประเภทแรกในพระพุทธศาสนา เนื่องจากในยุคแรกนั้น ยังมีพระสงฆ์ไม่มาก และโดยส่วนมากพระองค์จะเป็นผู้เทศน์สอนด้วยพระองค์เอง พระองค์จึงเป็นผู้บวชให้ โดยพระองค์จะตรัสเรียกผู้นั้น ซึ่งยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ให้เข้าเป็นภิกษุว่า “เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด” การตรัสพระวาจาเพียงแค่นี้ก็สำเร็จเป็นภิกษุในพุทธศาสนา แต่หากผู้นั้นบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ตั้งแต่ก่อนบวชแล้ว ท่านจะตรัสเพียงว่า “เธอจงเป็นภิกษุมาเกิด ธรรมเรากล่าวดีแล้วเธอจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด”
เป็นอย่างไรบ้างคะ ฟังแล้วทำให้เราเห็นความสำคัญของวันมาฆบูชาได้อย่างชัดเจนขึ้นแล้วนะคะ อยากให้ทุกท่านภูมิใจค่ะว่าพระบรมศาสดาของเรานั้นไม่ธรรมดาเลยจริงๆ ที่ท่านได้ดวางหลักการในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเอาไว้อย่างรัดกุม และทรงประสิทธิภาพ ทำให้พระพุทธศาสนานั้นได้เผยแผ่กว้างไกลมาจนถึงประเทศไทยเรา และสืบทอดต่อมาถึงยุคของพวกเราทุกคนนี้...เราในฐานะพุทธศาสนิกชน ควรหมั่นศึกษาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์เอาไว้ให้เข้าใจถ่องแท้ ที่สำคัญเรียนรู้แล้วให้นำมาปฏิบบัติจนกระทั่ง ก่อให้เกิดเป็นผลที่ดีแก่ตนเอง และช่วยกันเผยแผ่สิ่งดีดีนี้ออกไป จึงจะเรียกว่า เราได้ทำหน้าที่ชาวพุทธให้เกิดประโยชน์แล้วแก่ทั้งตนเอง และสังคมของเราได้อย่างแท้จริงค่ะ
ขอบคุณรูปภาพจากเว็บไซต์:
http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=moon11&month=23-02-2012&group=7&gblog=4
Tag :
มาฆบูชา
จาตุรงคสันนิบาติ
พระจันทร์เต็มดวง
ประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย
MakhaBuchaDay
MaghaPujaDay
FullMoonDay
Arahata
Buddha
Englighten
HeartofBuddhism
หัวในพระพุทธศาสนา
โอวาทปาติโมกข์
Ovadapatimokha
Comments to this story