Follow Us

Story We Share

STORY BY Sasha (Master)

Once upon a time in India (ตอนที่ 6)

Print March 11, 20142,732 views , 0 comments

Once upon a time in India (ตอนที่ 6)
กาลครั้งหนึ่งในอินเดีย-ตามรอยสังเวชนียสถาน
 

แล้วเช้าวันใหม่ก็เริ่มต้นอีกครั้ง เราตื่นขึ้นที่วัดธิเบตตั้งแต่เช้าเลย เมื่อทำภารกิจส่วนตัวเก็บข้าวของ ทานข้าวเช้าเสร็จก็มุ่งหน้าไปสู่สาลวโนทยาน ซึ่งเป็นสถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมีพระวิหารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางประทับอนุฎฐานไสยาสน์ หรือ พระนอนปางปรินิพพานของพระพุทธองค์ และยังมีพระมหาเจดีย์ที่ประดิษฐานพระแท่นปรินิพพานด้วย

 




จะขออธิบายเมืองกุสินารากันสักหน่อยค่ะ ในสมัยพุทธกาลเมืองนี้เป็นเมืองเอกหนึ่งในสองของแคว้นมัลละ เมืองกุสินารานั้นเมื่อเปรียบเทียบกับแคว้นอื่น ๆ ในสมัยพุทธกาล จัดว่าเป็นแคว้นเล็ก เป็นที่ตั้งของสาลวโนทยาน หรือป่าไม้สาละที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธรินิพพาน และเป็นที่ถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้าค่ะ

 

เมื่อเราไปถึงวิหารปรินิพพานแล้ว เราพบว่าที่นี่เป็นสถานที่ที่ร่มรื่นมาก มีสระน้ำในเป็นกระจกอยู่บริเวณด้านหน้าเห็นเป็นภาพสะท้อนมุมกลับกับวิหารปรินิพพานเลยทีเดียว ระหว่างทางที่เดินเข้ามาก็มีลมพัดมาเย็นสบายทำให้รู้สึกสงบใจอย่างบอกไม่ถูก เมื่อเราเข้าไปถึงเรามานั่งรวมกันอยู่ที่บริเวณด้านนอกเพื่อทำการสวดมนต์นั่งสมาธิ และระลึกถึงเหตุการณ์ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านได้เสด็จดับขันธปรินพิพพาน ซึ่งท่านได้ประธานคำสอนอันล้ำค่าและเป็นสัจธรรมคือ “ให้ดำรงอยู่ในความไม่ประมาทเถิด” เพราะชีวิตเป็นของน้อย เราชาวพุทธให้เร่งศึกษาคำสอนของพระพุทธองค์ เพื่อสั่งสมบุญสร้างบารมี และทำพระนิพพานให้แจ้งตามแบบอย่างพระพุทธเจ้า และพระอรหันตสาวกทั้งหลาย





 




เมื่อสวดมนต์กันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็เดินเวียนประทักษิณรอบวิหาร หลังจากนั้นจึงช่วยกันทำความสะอาดรอยดำรอบวิหารกัน แล้วจึงเข้าไปนมัสการพระพุทธรูปปางปรินิพพานที่อยู่ภายใน พระพุทธรูปปางเสด็จดับขันธปรินิพพาน คือ พระพุทธรูปนอนบรรทมตะแคงเบื้องขวา ซึ่งเป็นศิลปะมถุรา มีอายุกว่า 1,500 ปี ผู้สร้างคือ หริพละสวามี โดยนายช่างชื่อ ทินะ ชาวเมืองมถุรา ในปัจจุบันพระพุทธรูปองค์นี้ถือได้ว่าเป็นจุดหมายสำคัญที่ชาวพุทธจะมาสักการะ เมื่อเราได้เข้าไปภายในพระพุทธรูปปางปรินิพพานนั้นมีพระพักตร์ที่สงบมาก มองแล้วเห็นถึงสัจธรรมที่แม้แต่พระพุทธองค์ก็ยังต้องละสังขาร แล้วเราซึ่งเป็นเพียงคนธรรมดาจะมัวหลงเพลิดเพลิน ยึดติดไปกับสิ่งต่างๆไปทำไมเพราะเมื่อตายไปเราก็เอาอะไรไปไม่ได้สักอย่างเดียว

 








เมื่อเราเดินออกมาบริเวณรอบๆ จะมีซากศาสนสถานโบราณโดยรอบมากมาย เราเห็นว่ามีดอกไม้สวยงามประดับตกแต่งสถานที่ต่างๆ เอาไว้ ซึ่งเดาว่าก็คงจะเป็นกลุ่มชาวศรีลังกาที่มายังสถานที่แห่งนี้ก่อนหน้าเรา แล้วนำมาประดับเอาไว้ มีสิ่งหนึ่งซึ่งน่าสังเกต คือ เมืองกุสินารานี้เป็นแคว้นเล็ก ไม่คอ่ยมีความสำคัญมากนักนด้านเศรษฐกิจ แต่พระพุทธองค์ก็ทรงเลือกที่เป็นที่ปรินิพพาน เป็นเพราะอะไรพอจะเดากันออกไหมคะ?

 


ที่พระพุทธองค์ทรงเลือกเมืองกุสินาราเป็นสถานที่ปรินิพพาน เพราะทรงทราบดีว่าเมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว พระสรีระและพระบรมสารีริกธาตุของพระองค์จะถูกแว่นแคว้นต่าง ๆ แย่งชิงไปทำการบูชา หากท่านปรินิพพานในเมืองใหญ่ เมืองใหญ่เหล่านั้นอาจไม่แบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้เมืองเล็กๆ เช่น เมืองกุสินารา เป็นต้น ซึ่งก็เป็นความจริงเพราะหลังพระพุทธองค์ปรินิพพาน เจ้าผู้ครองแคว้นต่างๆ ยกกองทัพมาล้อมเมืองกุสินาราเพื่อชิงพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อกุสินาราเป็นเมืองเล็กจึงต้องยอมระงับศึกโดยแบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้ทุกเมืองโดยไม่ต้องเกิดสงคราม โดยกษัตริย์แห่งมัลละก็ได้ประดิษฐานพระพุทธสรีระไว้ ณ เมืองกุสินาราเป็นเวลากว่า 7 วัน ก่อนที่จะประกอบพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ มกุฏพันธนเจดีย์ ในวันที่ 8 แห่งพุทธปรินิพพาน  ซึ่งสถานที่นี้อยู่ห่างจากปรินิพพานสถูปไปทางทิศตะวันออก 1กิโลเมตร ชาวท้องถิ่นเรียก รัมภาร์สถูป เป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ มีสภาพเป็นเนินดินก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่ มีชื่อเรียกในท้องถิ่นว่า มาถากุนวะระกาโกฏ ซึ่งแปลว่า ตำบลเจ้าชายสิ้นชีพค่ะ ภายหลังจากที่เราได้สักการะที่วิหารปรินิพพานเรียบร้อยแล้ว เราก็ได้เดินทางไปถวายสักการะด้วยการสวดมนต์ เวียนประทักษิณที่มกุฏพันธเจดีย์กันต่อ ซึ่งปัจจุบันเป็นเนินสถูปหินที่สร้างเอาไว้ให้เราทราบตำแหน่งที่ถวายพระเพลิงพุทธสรีระ ในวันนั้นมัลลกษัตริย์แห่งนครกุสินารา พร้อมด้วยประชาชน และพระสงฆ์อันมีพระมหากัสสปเถระเป็นประธาน ได้พร้อมกันกระทำการถวายพระเพลิงพุทธสรีระ ณ ที่แห่งนี้ วันนั้นเป็นอีกวันหนึ่งที่ชาวพุทธมีความสังเวชสลดใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการสูญเสียพระพุทธสรีระนั่นเอง

 





หลังพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้ว เมืองกุสินารากลายเป็นเมืองสำคัญศูนย์กลางแห่งการสักการะบูชาของพุทธศาสนิกชน ต่อมาเมื่อแคว้นมัลละได้ตกอยู่ในความอารักขาของแคว้นมคธ พระเจ้าอโศกมหาราชเสด็จมาจาริกแสวงบุญยังกุสินารา ประมาณ พ.ศ. 310 ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ 100,000 กหาปณะ เพื่อเป็นค่าสร้างสถูป เจดีย์ และเสาศิลา หลังจากที่พระพุทธศาสนาได้หมดจากอินเดียไปใน พ.ศ. 1743 ทำให้สถานะของพระพุทธศาสนาในกุสินาราถูกปล่อยทิ้งร้างในปี พ.ศ. 2404-2420 เซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม ได้เริ่มทำการขุดค้นเนินดินในสาลวโนทยาน จนในปี พ.ศ.2418-2420 นายคาร์ลลีเล่ หนึ่งในผู้ช่วยในทีมขุดค้นของท่านเซอร์ อเล็กซานเดอร์ ได้ทำการขุดค้นต่อจนได้พบพระพุทธรูปปางปรินิพพาน วิหารปรินิพพาน และสถูปจำนวนมากที่ผู้ศรัทธาได้สร้างไว้ในอดีตเมื่อครั้งพระพุทธศาสนายังรุ่งเรือง โดยนายคาร์ลลีเล่ เป็นท่านแรกที่เอาใจใส่ในงานบูรณะและรักษาคุ้มครองพระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่ขุดพบ จากนั้น นับแต่ พ.ศ. 2443 เป็นต้นมา กุสินาราได้เริ่มมีผู้อุปถัมภ์ช่วยกันบูรณปฏิสังขรณ์ ทางการอินเดียจึงบูรณะสร้างขึ้นใหม่ในปี พ.ศ.2518 และทางการอินเดียและพุทธศาสนิกชนก็ได้มีส่วนร่วมในการบูรณะกุสินาราจนมีสภาพสวยงามอย่างที่เห็นในปัจจุบันค่ะ











เราหมดครึ่งเช้าของวันนี้ไปด้วยสถานที่แห่งการเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระพุทธองค์ เรากลับมาทานข้าวกลางวันที่วัดไทยกุสาวดี และทอดผ้าป่าเพื่อบำรุงวัด แล้วจึงเตรียมเดินทางไกลอีกครั้งเข้าสู่เมืองลุมพินี ประเทศเนปาล ระยะทางประมาณ 130 กม. ใช้เวลาประมาณ 4-5 ชม.ซึ่งหลังจากผ่านการเดินทางไกล 18 ชม.แล้วการเดินทางระดับต่ำกว่า 5-10 ชม. กลายเป็นเรื่องธรรมดาๆ ไปเลยค่ะ ระหว่างที่นั่งรถไปนั้นเราก็มองสองข้างทางมองดูวิถีชีวิตของคนที่นั่นไปเรื่อยๆ ได้เห็นอะไรแปลกๆ เยอะค่ะ เช่น เห็นบ้านแถวๆ นั้นมีแต่แพะ และวัว เดินไปเดินมาเยอะแยะเลย เรารู้สึกเหมือนแต่ละบ้านมีแพะเป็นสัตว์เลี้ยง เหมือนน้องหมาบ้านเราเลย นานๆ ทีก็จะเห็นหมู ซึ่งตัวเป็นสีดำเลยค่ะ ไม่เหมือนหมูบ้านเราที่มีผิวสีชมพู ตามบริเวณบ้าน และตามลำต้นของต้นไม้ก็จะเห็นอะไรเหมือนเป็นก้อนๆ ที่เขาวางตากแดดเอาไว้เป็นระเบียบเลย ซึ่งอ.จันทร์ และพระวิทยากรอธิบายว่านั่นคือ ขี้วัว นั่นเอง ขี้วัวที่อินเดียมีค่ามากเพราะเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีเยี่ยมค่ะ คนที่นั่นมีวิถีชีวิตเหมือนหยุดเวลาเอาไว้เมื่อพันปีที่ผ่านมา....เมื่อมืดค่ำ คนแถบนี้แทบไม่เห็นไฟจากหลอดไฟเลย จะมีก็เพียงบางบ้านเท่านั้นที่มีไฟฟ้า แต่ก็มีแค่ 1 หลอด ใช้สำหรับทั้งบ้าน บ้านเรือนก็เล็กมากๆ ทั้งบ้านเหมือนมีแค่ห้องๆ เดียวเท่านั้น บ้านส่วนใหญ่สร้างด้วยอิฐ และแทบไม่มีบ้านหลังไหนเลยที่สร้างเสร็จเรียบร้อย เหมือนว่าสร้างแล้วก็ยังสร้างไม่เสร็จ ทราบภายหลังว่าคนแถวนี้เขาก็สร้างไปตามที่เขามีมีเท่าไหร่สร้างเท่านั้น ไม่มีระบบเงินผ่อน ดังนั้นเขาจึงสร้างบ้านไปเรื่อยๆ ถ้าเขาพร้อม...แม้ว่าเราจะต้องนั่งรถนาน แต่สองช้างทางนั้นสำหรับฉันนั้นคือความรู้ที่หาไม่ได้จากตำรับตำราค่ะ

 






ค่ำแล้วพวกเราเริ่มหิว และอยากเข้าห้องน้ำ ก่อนที่จะเข้าประเทศเนปาลเรามาแวะที่วัดไทย 960 ซึ่งเป็นที่พักระหว่างทางของผู้แสวงบุญ เข้ามาแล้วเราก็รู้สึกเหมือนเจอสวรรค์ อันนี้บอกเลยนะคะว่าไม่ได้พูดเกินจริงไป เพราะหากคุณลองจินตนาการดูว่าตลอดเวลา 4-5 วันที่ผ่านมาเจอแต่สภาพห้องน้ำที่สภาพไม่ค่อยดีนัก หรือ ต้องเจอแต่ห้องน้ำทุ่ง อยู่ๆ ก็มาเจอสถานที่ที่มีห้องน้ำสะอาดมากๆ พื้นห้องน้ำแห้ง และกลิ่นดี มีหลายห้อง สภาพแวดล้อมของวัดก็สวยงามเป็นธรรมชาติ เมื่อเดินเข้ามายังมีโรตีทอดอร่อยๆมากๆ ราดนม ใสบนใบสาละแห้งซึ่งทำเป็นภาชนะ มันสุดยอดมากๆ ค่ะ เนื่องจากที่ผ่านมาเราก็ไม่กล้าทานอาหารท้องถิ่นมากนัก มีแต่คนเตือนให้ระวังเรื่องอาหารเพราะเดี๋ยวจะท้องเสีย (ท้องเสียขณะที่เดินทางในอินเดียนี่บอกได้คำเดียวว่าย่ำแย่สุดๆค่ะ) ครั้งนี้เลยทานไป 5 ถ้วยเลยค่ะ

 


แล้วเราจึงเดินทางต่อผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง เดินทางเข้าสู่กรุงลุมมินเด ประเทศเนปาล หรือ ลุมพินีวันในครั้งพุทธกาล  เราเดินทางต่อมาอีกสัก 1 ชั่วโมง ก็ถึงโรงแรม NANSCนี่เป็นครั้งแรกของทริปนี้ค่ะที่เราพักโรงแรมกัน ไปถึงก็รับประทานอาหารแล้วจึงขึ้นไปห้องพัก จัดเตรียมข้าวข้องสำหรับพรุ่งนี้แล้วหลับไปด้วยความเหนื่อยอ่อน เอาบุญมาฝากนะคะ

 

 

Tag : India Buddha สาลวโนทยาน ปรินิพพาน กุสินารา ปางปรินิพพาน Buddhism Buddhism payhomage

Comments to this story

Write a comment


1.  views readmore
ALL Most Viewed
ALL TOP Rated
1.  comments readmore
ALL Most Comment
All Relate Story