บุญ คือ อะไร (ตอนที่ 2)
What is Boon or Merit? (Part 2)
จากตอนที่แล้วเราก็ได้ทราบแล้วว่าบุญคือ กระแส หรือ พลังบริสุทธิ์ที่เกิดขึ้นจากการทำความดี และ เบื้องต้นได้อธิบายถึงเรื่อง บุญกิริยาวัตถุ 3 (ทาน ศีล ภาวนา) ซึ่งเป็น ส่วนย่อยของ บุญกิริยาวัตถุ 10 โดยเราจะมาดูกันให้จบในตอนนี้ค่ะ ส่วนคำถามที่ค้างกันไว้ว่า แล้วการทำความดีทั่วไปที่ไม่เกี่ยวกับพุทธศาสนา ทำแล้วจะได้บุญด้วยหรือไม่ ตอนนี้มีคำตอบค่ะ เดี๋ยวเรามาดูกัน
โดยจะขออธิบายเรื่อง บุญกิริยาวัตถุ 10 ประการ นี้ให้ครบถ้วนเสียก่อน โดย 3 ข้อแรก คือ บุญกิริยาวัตถุ 3 คือ 1. ทาน 2. ศีล 3. ภาวนา ซึ่งได้อธิบายในรายละเอียดกันแล้ว ส่วนที่เหลืออีก 7 ข้อนั้น ได้แก่
ข้อที่ 4. บุญสำเร็จได้ด้วยการประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ (อปจายนมัย) คือการให้ความเคารพ อ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่และผู้มีพระคุณ 3 ประเภท คือ ผู้มีวัยวุฒิ ได้แก่พ่อแม่ ญาติพี่น้องและผู้สูงอายุ ผู้มีคุณวุฒิ หรือคุณสมบัติ ได้แก่ ครูบาอาจารย์ พระภิกษุสงฆ์ และผู้มี ชาติวุฒิ ได้แก่พระมหากษัตริย์ และเชื้อพระวงศ์ รวมไปถึงการไม่ยกตนข่มต่อผู้ที่ด้อยกว่าเราด้วย
การทำความดีด้วยการอ่อนน้อมต่อผู้อื่นก็ได้บุญแล้ว เห็นไหมคะว่าจริงๆ แล้วการจะสั่งสมบุญนี่ไม่ยากเลยค่ะ เริ่มด้วยด้วยจิตใจที่ดีแล้วแสดงออกมาที่การกระทำ และคำพูด เบื้องต้นก็แค่นี้เอง...มาดูกันต่อค่ะ
ข้อที่ 5. บุญสำเร็จได้ด้วยการขวนขวายในกิจการที่ชอบ (เวยยาวัจจมัย) คือ การกระทำสิ่งที่เป็นคุณงามความดี ที่เกิดประโยชน์ต่อคนส่วนรวม โดยหากกิจกรรมนั้นเป็นงานที่เกี่ยวเนื่องกับการชักนำบุคคลให้เป็นคนดี ได้รักษาศีล ได้ปฏิบัติธรรม ยิ่งเป็นสิ่งที่จะทำให้ได้บุญมากยิ่งขึ้น เพราะเป็นการชักชวนให้คนในหมู่กว้างเป็นคนดี ช่วยให้สังคมสงบสุขมากยิ่งขึ้น และยังเป็นการช่วยให้ผู้คนรู้จักกฎแห่งกรรม ปิดนรก เปิดสวรรค์ให้ตนเองได้ เป็นต้น บุญก็จะเกิดจากสิ่งดีๆเหล่านั้น
ข้อที่ 6. บุญสำเร็จได้ด้วยการให้ส่วนบุญ (ปัตติทานมัย) คือ การที่เมื่อเราทำความดี หรือ ทำบุญอะไรแล้ว เรารู้สึกว่าอยากแบ่งปันผลบุญนี้ให้แก่ทุกๆคน เราจึงตั้งใจอุทิศส่วนบุญกุศลที่ได้กระทำไว้ ให้แก่สรรพสัตว์ทั้งปวง หรือ บอกให้ผู้อื่นได้ร่วมยินดีกับเราด้วย (หรือ เรียกว่าอนุโมทนาบุญ) โดยการอุทิศบุญนี้สามารถอุทิศใหได้ทั้งมนุษย์ และสรรพสัตว์ต่างๆที่อยู่ในภพภูมิอื่นๆ ทั้งที่มีชีวิตอยู่ และที่ละโลกไปแล้ว โดยทั่วไปหากเป็นผู้ที่มีชีวิตอยู่ เรามันจะบอกให้เขาทราบบุญที่เราได้ทำมา แล้วอีกฝ่ายก็จะตอบกลับมาว่า “สาธุ” ที่แปลว่า “ดีแล้ว” เป็นการบอกว่าเขาได้อนุโมทนาบุญกับเราแล้ว
เห็นไหมคะ ยิ่งเราอยากแบ่งปันบุญของเราให้ผู้อื่น กลายเป็นว่าบุญก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นไปอีก...สำหรับความเชื่อของบางคนที่กลัวว่า เมื่อทำบุญมาแล้วแบ่งบุญให้คนอื่น แล้วเดี๋ยวบุญของเราจะน้อยลงไปอีก...อันนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องนะคะ การอุทิศบุญ หรือ แบ่งบุญให้ผู้อื่นเปรียบเหมือนการที่เรามีแสงจากเทียน 1 เล่ม แล้วเรานำเทียนของเราไปต่อไปให้กับบุคคลอื่น บุญของเราก็ไม่ได้หายไปไหน ตรงกันข้ามเมื่อเราต่อเทียนมากขึ้นๆ แสงเทียนของบุญทั้งหมดที่เพิ่มขึ้น ยังส่องแสงสว่างขึ้นหลายเท่าตัว เปรียบเหมือนพลังแห่งบุญเมื่อเราแบ่งปันให้คนอื่นได้ร่วมอนุโมทนาบุญกับเรา เราก็จะได้รับผลแห่งบุญที่ขยายเพิ่มมากขึ้นนั้นด้วย ดังนั้น เมื่อเราทำความดีอะไรมาก็ขอให้ร่วมแบ่งปันกันให้ทุกๆ คนได้ยินดีกับเรานะคะ คนแบ่งปันก็ได้บุญ คนที่อนุโมทนาก็ได้บุญ อย่างนี้เรียกว่า “Win Win Situation” หรือ “ยิ่งให้ ก็ยิ่งได้” นะคะ
ข้อที่ 7. บุญสำเร็จได้ด้วยการอนุโมทนา (ปัตตานุโมทนามัย) คือ อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า เมื่อผู้ที่ได้ทำบุญเอาบุญมาฝากเรา ผู้ที่จะอนุโมทนา ก็จะกล่าวคำว่า “สาธุ” เป็นการยินดี ยอมรับความดี และขอมีส่วนร่วมในความดีของบุคคลอื่น ถึงแม้ว่าเราไม่มีโอกาสได้กระทำอย่างเขา ก็ขอให้ได้มีโอกาสได้แสดงการรับรู้ด้วยใจปีติยินดีในบุญกุศลนั้น ผลบุญก็จะเกิดแก่บุคคลที่ได้อนุโมทนาบุญนั้นเองด้วย...ทุกการกระทำที่เป็นที่มาแห่งบุญนั้นมี “ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธานค่ะ ขอแค่เริ่มต้นด้วยจิตที่คิดดี ยินดีในบุญของผู้อื่นก็ได้ส่วนแห่งบุญนั้นแล้วนะคะ
บางคนอาจจะงงว่า เป็นไปได้ยังไง ไม่ได้ทำอะไรสักหน่อย ก็ได้บุญแล้ว ดูจะเป็นการเอาเปรียบผู้ที่ทำบุญจริงๆ รึเปล่า อันนี้จะขออธิบายเพิ่มเติมอีกนิดค่ะ การที่เราจะได้บุญมากหรือน้อยนั้นสิ่งสำคัญมากๆ ก็คือ ความปลื้มของใจเราที่เกิดขึ้น ส่วนมากแล้วผู้ที่เป็นคนลงมือกระทำงานบุญนั้นด้วยแรงกาย แรงใจ มักจะมีความปลื้มปิติมากกว่า อีกทั้งการได้ลงมือทำด้วยความตั้งใจนั้นยิ่งทำให้ได้บุญมากมาย ส่วนผู้ที่ได้ฟังข่าวแล้วอนุโมทนาบุญก็จะได้ผลบุญส่วนหนึ่ง จะมากหรือ น้อยก็ขึ้นอยู่กับระดับความปิติยินดีกับบุญนั้นๆ และที่สำคัญ การที่ใครสักคนไปทำบุญไปทำความดีมา แล้วมีคนอนุโมทนายินดี ย่อมเป็นการให้กำลังใจ ส่งเสริมกำลังใจให้ผู้นั้นอยากทำความดียิ่งขึ้นไปอีกด้วย นั่นก็นับว่าเป็นความดีของผู้ที่อนุโมทนาอีกทางหนึ่งด้วย
ยกตัวอย่าง เช่น นาย ก. นำเงินเก็บ 10,000 บาท ไปร่วมสร้างศาลาฟังธรรม ปฏิบัติธรรม แล้วเอามาบอกกับเพื่อน 2 คน เพื่อนคนแรกนอกจากจะไม่อนุโมทนาบุญแล้ว ยังตำหนินาย ก. ว่า นายก.นี่ท่าจะบ้า ใช้เงินไม่ถูกต้อง แทนที่จะเอาไปซื้อของให้ตัวเอง แต่กลับเอาไปทำบุญ ส่วนเพื่อนคนที่สอง เมื่อได้ฟังก็รู้สึกตื่นเต้น ยินดี ที่นาย ก. กล้าตัดใจนำเงินเก็บส่วนตัวไปทำบุญเพื่อประโยชน์ส่วนรวม สร้างสถานที่ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม เพื่อขัดเกลาจิตใจสร้างศีลธรรมให้คนในสังคม เป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก จึงได้อนุโมทนาสาธุ กับนาย ก. ยกใหญ่...จากตัวอย่างนี้ คำพูดของเพื่อนคนแรก อาจจะทำให้นาย ก. รู้สึกไม่แน่ใจว่าตนเองทำในสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ แล้วอาจจะเสียความรู้สึกคิดว่าตัวเองถูกหลอกให้ทำบุญรึเปล่า และในที่สุดอาจจะไม่ทำความดีอีกต่อไป แต่คำพูดของเพื่อนคนที่สอง จะทำให้นาย ก. ยิ่งรู้สึกปลาบปลื้ม ภาคภูมิใจในตัวเอง ที่สามารถทำสิ่งที่คนทั่วไปทำได้ยาก และมีกำลังใจที่จะทำบุญทุกๆ แบบให้ยิ่งขึ้นไป
อันนี้ไม่เพียงแต่การทำบุญด้วยปัจจัยเท่านั้น บางครั้งการที่ใครบางคนอุทิศเอาแรงกาย และเวลาของตน มาช่วยงานส่วนรวม หรือ งานเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ก็จะมีกลุ่มคนบางคนที่ไม่เข้าใจ และมองว่าเป็นการกระทำที่ไม่มีประโยชน์ เสียเวลา เป็นต้น ดังนั้นขอให้เราทุกคน เมื่อเห็นใครทำความดี แม้ว่าจะไม่ใช่การกระทำที่เป็นแนวทางที่เราคุ้นเคย ก็ขอให้เราได้ร่วมอนุโมทนาบุญ เห็นดีเห็นงามไปกับเขาด้วย แม้เราไม่ได้อยากจะได้บุญนั้น แต่ผลพลอยที่เราจะได้คือ ส่วนแห่งบุญนั้น และช่วยสร้างสังคมนี้ให้ดีงามยิ่งขึ้นค่ะ
ขอที่ 8. บุญสำเร็จได้ด้วยการฟังธรรม (ธัมมัสสวนมัย) คือ การตั้งใจฟังธรรม ฟังธรรมด้วยความเคารพนบน้อม ประดุจได้ฟังธรรมจากพระโอษฐ์ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สังเกตไหมคะเวลาพระสงฆ์ จะขึ้นธรรมมาสเพื่อสาธยายธรรม ธรรมมาสนั้นจะเป็นเหมือนเก้าอี้ที่มีระดับความสูงที่สูงมาก เนื่องจากบรรพบุรุษของเรานั้นมีปัญญา จึงให้ความเคารพในการฟังธรรมมากนั่นเอง โดยพระสงฆ์ผู้ที่จะบรรยายธรรม ถ้าจะให้ถูกต้องตามหลักการก็จะต้องชำระร่างกายให้สะอาด กลั่นใจให้ใส แล้วจึงขึ้นธรรมมาสประกาศพระธรรมของพระพุทธองค์ให้แก่ผู้ที่มาฟังธรรม เพื่อที่สาธุชนจะได้รับฟังธรรมะที่กลั่นออกมาจากใจที่ใสสะอาดถูกต้องตามที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนเอาไว้
บางครั้งพระธรรมที่เราฟังอาจจะได้เคยฟังมาแล้ว หรือ ที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อน เราก็ควรยังจิตให้เลื่อมใส หากเคยฟังแล้วก็รับฟังเพื่อได้รับความกระจ่างมากขึ้น บรรเทาความสงสัยและทำความเห็นให้ถูกต้องยิ่งขึ้น จนเกิดปัญญาหรือความรู้ก็พยายามนำเอาความรู้และธรรมะนั้นนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ สู่หนทางเจริญ และช่วยกันเผยแผ่ธรรมะนั้นต่อไป
การที่เรายอมให้โอกาสตนเองได้ฟังธรรม เพื่อปรับใจของเราให้เป็นสัมมาทิฐิ (คิดถูก เห็นถูก) มีปัญญามากยิ่งขึ้น ทำให้จิตใจเราเป็นกุศล เกิดความดีงอกงามในจิตใจเรา เมื่อใจเราดีงาม แล้วสิ่งดีๆ ก็จะตามมาในภายหลัง ดังนั้นบุญจึงเกิดขึ้นด้วยเหตุดังนี้
ข้อที่ 9. บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม (ธัมมเทสนามัย) คือ บุญที่เกิดขึ้นเนื่องจากเราได้พูด หรือบอกกล่าว เรื่องธรรมะแก่ผู้อื่น หรือ การแสดงธรรมไม่ว่าจะเป็นรูปของการกระทำ หรือการประพฤติปฏิบัติด้วยกาย วาจา ใจ ในทางที่ชอบ ตามรอยบาทองค์พระศาสดา ให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่บุคคลอื่น หรือการนำธรรมไปขัดเกลากิเลสอุปนิสัยเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้อื่น ให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธา มาประพฤติปฏิบัติธรรมต่อไป
ดังนั้นนอกจากเราได้ฟังธรรมจนกระทั่งได้ปัญญา แล้วเราหมั่นทบทวนหลักธรรมจนสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันให้เกิดผลที่ดีงาม บุญจากการแสดงธรรมจึงเกิดขึ้นด้วยเหตุที่ว่าเรานำสิ่งเหล่านี้ไปบอกต่อ เผยแผ่ออกไปนั่นเท่ากับว่าเราได้สร้างกระแสแห่งความดีงามให้เกิดขึ้นในวงกว้าง ขยายแผ่ออกไปให้สังคมเราสงบร่มเย็น และทางมาแห่งบุญข้อนี้ยังเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่คือ ให้ธรรมทาน ซึ่งชนะการให้ทั้งปวงนะคะ
ข้อที่ 10. บุญสำเร็จได้ด้วยการทำความเห็นให้ตรง (ทิฏฐชุกัมม์) คือ บุญที่เกิดขึ้นจากการที่เรามีความคิด ความเห็น ที่ถูกต้อง (สัมมาทิฐิ 10) ซึ่งในเบื้องต้นความเห็นถูกนั้นก็คือ ความเข้าใจในเรื่องความจริงของชีวิตในสังสารวัฏ เช่น กฎแห่งกรรม กฎไตรลักษ์ บาป บุญ คุณ โทษ ความดี ความชั่ว หรือ เรื่องภพภูมิหลังความตาย ฯลฯ สิ่งที่เป็นแก่นสารสาระหรือที่ไม่ใช่แก่นสารสาระ ทางเจริญทางเสื่อม สิ่งอันควรประพฤติสิ่งอันควรละเว้น ตลอดจนการกระทำความคิดความเห็นให้เป็นสัมมาทิฏฐิอยู่เสมอ
เพราะทุกอย่างเริ่มต้นที่ใจ ที่ความคิด หากเราเห็นผิด การดำเนินชีวิตของเราก็ผิดไปหมด เช่น หากเราคิดว่า การประสบความสำเร็จในชีวิตวัดกันที่จำนวนของทรัพย์สินเงินทอง โดยไม่สนใจว่าจะได้สิ่งเหล่านั้นมาอย่างไร ก็อาจจะทำให้พลั้งเผลอไปประกอบอาชีพทุกจริต หรือ มิจฉาอาชีวะ ซึ่งจะก่อให้เกิดบาปกรรมติดตัวเราไปอีก สมมติว่านักธุรกิจคนหนึ่งเลือกทำอาชีพขายอาวุธสงคราม เพราะจะทำให้ร่ำรวยได้อย่างรวดเร็ว โดยอาจมีความคิดว่า ก็แค่ขายอาวุธส่วนว่าใครจะนำอาวุธนั้นไปใช้ฆ่าใครก็ไม่ขอมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ขอแค่ให้ได้เงินมาก็เพียงพอแล้ว แต่ในความเป็นจริง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้สอนเอาไว้ชัดเจนว่า “ค้าอาวุธ” ถือเป็นหนึ่งในมิจฉาอาชีวะ ซึ่งหากทำอาชีพนี้แล้วจะมีส่วนแห่งบาป ควรละเว้น...ถามว่าทำไมถึงบาป? ถ้าเราไม่ได้ไปสั่งให้ใครฆ่าใครก็ไม่น่าจะเกี่ยวกับเรา ซึ่งคิดอย่างนี้ไม่ถูกต้อง (ไม่เป็นสัมมาทิฐิ) คนสร้างอาวุธสร้างขึ้นเพื่อเอาไว้ใช้ทำร้ายให้บาดเจ็บ ล้มตาย สร้างเอาไว้ทำลายล้าง การที่เรามีส่วนตั้งแต่ในการออกแบบ ผลิต ส่งต่อ วางขาย เป็นเจ้าของ จนกระทั่งใช้ยิงสัตว์ หรือมนุษย์ จนกระทั่งบาดเจ็บล้มตาย ล้วนมีส่วนในบาปทั้งสิ้น เพราะมีส่วนในการส่งต่ออาวุธนี้ให้เกิดการฆ่าขึ้นมา ดังนั้นหากมีสัมมาทิฐิ เชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรม ก็จะรักบุญกลัวบาป อยากที่จะห่างไกลจากบาปอกุศล อยากรักษาศีล 5 ในที่สุดก็จะไม่ยอมทำธุรกิจที่เกี่ยวกับการค้าอาวุธเพราะมีหิริโอตตัปปาะ (ความละอาย และเกรงกลัวต่อบาป)
ดังนั้นการที่เราปรับใจเราให้มีความเห็นถูก เข้าใจถูก จึงเป็นทางมาแห่งการหลีกหนีต่อบาปอกุศลทั้งปวง และจะรักในการทำความดีสร้างบุญกุศล บุญจึงเกิดได้จากการมีสัมมาทิฐิ ด้วยเหตุนี้ค่ะ
กล่าวโดยสรุปแล้วจะเห็นว่า บุญนั้น คือ กระแสพลังแห่งความบริสุทธิ์ที่เกิดจากการทำความดีทุกประเภท (บุญกิริยาวัตถุ 10) ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านก็ได้อธิบาย แจกแจงไว้โดยละเอียด ธรรมะของพระพุทธองค์ ไม่มีขาด ไม่มีเกิด บริบูรณ์เต็มเปี่ยม ดังนั้นหากเราเข้าใจบุญกิริยาวัตถุทั้ง 10 ประการนี้ เมื่อใดก็ตามที่เราสงสัยว่าสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาให้เราได้ลงมือกระทำนั้นจะเป็นทางมาแห่งบุญหรือไม่ คุณสามารถใช้ บุญกิริยาวัตถุ 10 ประการนี้ เป็นตัวชี้วัดได้เลย ฉะนั้นหากเราต้องทำอะไรที่ดูแล้วไม่เป็นทางมาแห่งบุญเช่น พาลูกค้าไป entertain ด้วยการเที่ยวกลางคืน หรือ การติเตียนผู้ที่มาช่วยงานพระศาสนา ก็ให้หลีกเลี่ยงไปดีกว่า ในทางตรงข้ามให้เส้นทางในชีวิตของเรานับจากนี้จะเป็นไปเพื่อการสร้างบุญกุศล ทำความดี แต่เพียงอย่างเดียวให้ยิ่งๆขึ้นไปค่ะ
Credit Picture from: http://vicdicara.wordpress.com/2010/05/20/the-sun-soul-health-authority-career/
Tag :
บุญ
merit
Buddhism
พุทธศ่าสนา
gooddeed
Comments to this story