เนื่องจากคนเรามักจะมีช่วงเวลาต่างๆในแต่ละวัน ที่เหมาะสมในการปฏิบัติสมาธิแตกต่างกันออกไป ทั้งนี้แล้วแต่กิจกรรม และ ลักษณะนิสัยของแต่ละคนค่ะ ดังนั้นหากเราสามารถจัดสรร เวลาที่แน่นอนในการฝึกสมาธิในแต่ละวันได้อย่างชัดเจน เมื่อทำไปสักระยะหนึ่ง คล้ายกับว่าสมองเราจะจำได้ว่าในช่วงเวลานี้ เราจะต้องฝึกสมาธิ ในภายหลังเมื่อเราจะฝึก สมาธิ สมองจะสั่งร่างกายของเราให้ตื่นตัว เตรียมพร้อมสำหรับการฝึกสมาธิ ซึ่งจะทำให้เรามีผลการฝึกสมาธิดีกว่าที่เราไม่จัดสรรเวลาสำหรับฝึกสมาธิค่ะ
2. พื้นฐานสุขภาพของผู้ปฏิบัติ
การปฏิบัติธรรมนั้น หากผู้ปฏิบัติมีสุขภาพแข็งแรง จะปฏิบัติได้ดีกว่าผู้ที่มีสุขภาพไม่แข็งแรง เนื่องจากการฝึกสมาธิ แม้ว่าจะสามารถฝึกได้หลายอิริยาบท นั่ง ยืน เดิน แต่ท่าที่นั่งได้นิ่งสนิทดีจริงๆ นั้นคือ ท่านั่งขัดสมาธิ เพราะเป็นท่าที่เมื่อนั่งแล้วได้สัดส่วน สามารถการถ่ายเทกระจายน้ำหนัก ทำให้สามารถนั่งได้มั่นคง และสมาธินั้นหากผู้ปฏิบัติอยากจะก้าวหน้ามีผลการปฏิบัติที่ลุ่มลึก เมื่อนั่งไปแล้วมักจะต้องนั่งให้นิ่ง ไม่ไหวติง ซึ่งจะเป็นการยากสำหรับผู้ที่มีสุขภาพไม่แข็งแรง เพราะอาจจะมีอาการปวดเมื่อย ระบบเลือดไม่ไหลเวียน เป็นเหน็บชา เป็นต้น ดังนั้น ทุกท่านควรเตรียมสุขภาพ ร่างกายให้พร้อม ด้วยการหมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ เช่น การยืดเส้นสาย โยคะ รำไทเก๊ก รำกระบอง และอื่นๆ
3. พื้นฐานพฤติกรรมทางอารมณ์ของผู้ปฏิบัติ
พื้นฐานทางอารมณ์ของผู้ปฏิบัตินับว่ามีความสำคัญ ผู้ที่มีภาวะอารมณ์ดีอยู่เสมอ มักจะปฏิบัติได้ผลเร็วกว่าคนที่หงุดหงิดง่าย หรือคนเจ้าอารมณ์ หากผู้ใดมักหงุดหงิด โกรธง่าย การรักษาศีล อย่างน้อยศีล 5 เป็นปกติ จะช่วยให้ลดความเป็นคนมักโกรธได้ เนื่องจากศีลนั้น เป็นหลักธรรมที่ทำให้งดเว้นจากการเบียดเบียนผู้อื่น เมื่อฝึกบ่อยๆ จะทำให้ใจเย็นลง และเมื่อไม่คิดร้ายกับใคร ก็จะเป็นผู้ไม่มีศัตรู ไม่มีเรื่องขุ่นข้องค้างอยู่ในใจ อีกประการหนึ่งการหมั่นสวดมนต์ และแผ่เมตตาต่อสรรพสัตว์ที่เกิดมาร่วมทุกข์กันนั้น ก็จะทำให้เรารู้สึกเข้าใจ และเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ก็จะทำให้ลดอารมณ์มักโกรธได้อีกทางหนึ่ง อันจะเป็นผลดีต่อการนนั่งสมาธิ เพราะหัวใจของการนั่งสมาธิ คือ “อารมณ์สบาย” นั่นเองค่ะ
4. พื้นฐานด้านคุณธรรมของผู้ปฏิบัติ
อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วในเบื้องต้นว่า อารมณ์สบาย จะทำให้มีผลการปฏิบัติธรรมที่ดี เปรียบเสมือนกับเมื่อนั่งลงไปแล้ว เมื่อเริ่มต้นด้วยอารมณ์สบายจะเป็นการเริ่มต้นจากศูนย์และเพิ่มความสงบ สบายยิ่งๆ ขึ้นไป แต่หากคุณธรรมของผู้ปฏิบัติยังไม่มากพอ ยังมีความคิดที่ผิดศีลธรรมอยู่นั้นเปรียบเสมือนเริ่มนั่งด้วยคะแนนติดลบ ต้องใช้เวลานานกว่าจะปรับใจให้ขึ้นสู่ความเป็นกลาง จากนั้นจึงจะสามารถต่อยอดต่อไปได้ นั่นก็หมายถึง แต่แทนที่จะได้ผลดีเลย กลับต้องไปแก้ไขส่วนเสียก่อนนั้นเอง ผู้ปฏิบัติจึงควรฝึกคุณธรรมของตนให้ยิ่งๆขึ้นไป
5. ความสม่ำเสมอของผู้ปฏิบัติ
เหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้ปฏิบัติมีผลการปฏิบัติไม่ก้าวหน้า คือ ความไม่สม่ำเสมอ ไม่ต่อเนื่องของการฝึกสมาธิ สิ่งที่ทุกๆคน ควรจะทำความเข้าใจก็คือ การฝึกสมาธิ ก็เหมือนกับการฝึกฝนอื่นๆ ในโลกใบนี้ คือ ต้องฝึกอย่างต่อเนื่อง เช่น การฝึกว่ายน้ำนั้น จะว่ายน้ำเป็นก็ต้องฝึกว่ายบ่อยๆ เมื่อว่ายเป็นแล้วอยากจะเก่งก็ต้องฝึกว่ายทุกวันกำลังจึงจะอยู่ตัว หรือ จะร้องเพลง ก็ต้องฝึกร้องทุกวันจนเสียงอยู่ตัว แล้วต่อยอดรร้องเพลงที่ยากขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่การฝึกภาษา ก็ต้องฝึกทุกวัน ฝึกใช้บ่อยๆ จนกระทั่งสามารถพูดได้อย่างเป็นธรรมชาติ และฝึกต่อเนื่องเพื่อให้เก่งขึ้น สมาธิก็เช่นกัน แม้รู้ว่าดี แต่ไม่มีความเพียรที่จะฝึกอย่างต่อเนื่อง ทุกครั้งที่หยุดไป เมื่อกลับมานั่งสมาธิใหม่ ก็จะกลับไปสู่จุดเดิม ย้ำวนเวียนอยู่กับที่ “ใจ” ของเราเมื่อไม่ได้มีการฝึกฝน “สติ” อย่างต่อเนื่อง ก็ยากที่เราจะมีผลการฝึกสมาธิก้าวหน้าได้ค่ะ ฝึกสมาธิทุกวันก็จะทำให้ใจเราได้รับการขัดเกลาทุกวัน ใจเราก็จะใสขึ้น ละเอียดขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ
ทั้งหมดนี้ก็คือปัจจัยที่สำคัญที่จะเป็นตัวชี้วัดว่าเราจะมีผลการฝึกสมาธิได้ดีมากน้อยแค่ไหนนะคะ ขอให้ทุกท่านเตรียม กาย และใจ ของเราให้พร้อม และพิจารณาปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ว่ามีปัจจัยใดบ้างที่เรายังต้องปรับ เพื่อให้พร้อมสำหรับการฝึกสมาธิของเราบ้าง...ขอให้ทุกท่านมีผลการปฏิบัติที่ดีในทุกๆวันนะคะ
credit: photo from SHUTTERSTOCK/ALEKSANDAR TODOROVIC
Comments to this story