Follow Us

Story We Share

STORY BY Sasha (Master)

สัมมาสมาธิในพระพุทธศาสนา

Print December 30, 20133,133 views , 0 comments

สัมมาสมาธิในพระพุทธศาสนา


เมื่อเรามีความสนใจที่จะฝึกสมาธิแล้ว สิ่งที่เราจะทำได้ต่อไปก็คือ เราต้องลองศึกษาวิธีการฝึกสมาธิในแบบต่างๆ ดูค่ะว่า เราเหมาะกับการฝึกสมาธิในแบบใด ซึ่งวิธีการต่างๆมีหลากหลายโดยในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ได้แสดงอารมณ์ของสมถภาวนาไว้ว่า มี 40 วิธี แบ่งเป็น  7 หมวด คือ กสิณ 10 อสุภะ 10 อนุสติ 10 พรหมวิหาร 4 อรูปกัมมัฏฐาน 4 อาหาเรปฏิกูลสัญญา จตุธาตุววัตถาน  และจริงๆ แล้วก็มากกว่านั้นค่ะ โดยสิ่งที่ทุกท่านควรทำความเข้าใจเอาไว้ก่อนก็คือ สมาธินั้นมีหลายขั้นหลายระดับ แต่ละระดับก็มีผลที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งในรายละเอียด เราจะค่อยๆ นำมาเล่าให้ฟังกันนะคะ
 
โดยทุกวิธีที่กล่าวเอาไว้ในพระพุทธศาสนานั้นล้วนมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ นำใจเข้าสู่ภายในจนกระทั่งพบหนทางเบื้องต้นแห่งมรรคผลนิพพาน นั่นคือ “ปฐมมรรค” แล้วจึงค่อยสั่งสมความละเอียดของสมาธิภายในเรื่อยไป...จนกระทั่งถึงระดับที่สามารถขจัดกิเลสให้หมดสิ้นไปได้ ในนิพพานสูตรนี้ได้กล่าวถึงนิพพานว่า “นิพพาน อันผู้บรรลุเห็นได้เอง ไม่ขึ้นกับกาล เรียกให้มาดูได้ ควรน้อมเอาเข้ามาไว้ อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน” จะเห็นว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านได้ยืนยันว่า พระนิพพานนั้นเป็นสิ่งที่ต้องเอาใจน้อมเข้ามาในตน รู้ได้เฉพาะตนนะคะ
 
ดังนั้นสมาธิในพระพุทธศาสนาเป็นสมาธิที่ฝึกเอาใจไว้ภายในตัวค่ะ ถ้าเห็นที่ไหนที่ให้ผู้ฝึกทำสมาธิเอาใจเพ่งออกนอกตัวสามารถบอกได้ว่าไม่ใช่สมาธิในพระพุทธศาสนา...การทำสมาธิเอาใจไว้นอกตัว เช่น การเพ่งวัตถุสิ่งของภายนอกให้ใจเป็นสมาธิ เป็นต้น  แต่หากมีการนำเอาวัตถุสิ่งของมาเป็นนิมิต ด้วยการจ้องมองสักพักพอให้จำภาพเหล่านั้นได้ แล้วนึกน้อมเอาเป็นนิมิต นึกอยู่ภายในตัว อย่างนี้ยังเรียกว่าเป็นสมาธิในพระพุทธศาสนาค่ะ
 
การทำความเข้าใจเรื่องฝึกสมาธิในพุทธศาสนา หรือ นอกพุทธศาสนานั้นมีความสำคัญมากนะคะ เพราะในสมัยพุทธกาล ก่อนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะประสูติ ในยุคนั้นก็มีพวกพราหมณ์ ฤาษี โยคี ที่ฝึกสมาธิกันอยู่แล้ว แต่ยังไม่ใช่สมาธิที่นำไปสู่หนทางแห่งพระนิพพาน เช่น เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ไปเรียนรู้อาฬารดาบส และ อุทกดาบส สำเร็จได้ถึง ฌาน 8 แต่ในสมัยนั้นนักบวชยังนิยมฝึกจิตด้วยการเพ่งวัตถุภายนอก บ้างก็มีการทำท่าต่างๆ เพื่อฝึกสมาธิ เช่น พวกท่าโยคะ (ซึ่งสมัยนี้นิยมนำมาฝึกเพื่อให้สุขภาพแข็งแรง) ซึ่งพระองค์ได้ฝึกจนหมดความรู้ของอาจารย์ทั้งสองแล้ว แต่ก็ตระหนักว่ายังไม่สามาถนำพาให้หลุดพ้นการวัฏสงสารได้ ท่านจึงแสวงหาหนทางด้วยตัวของท่านเอง จนเมื่อท่านได้นึกถึงสมัยที่ท่านยังเป็นเด็กได้หลับตานั่งทำสมาธิมีใจสงบ ใต้ต้นหว้า กระทั่งเข้าถึงปฐมมรรคครั้งนั้น จึงทำให้ท่านหวนกลับมาฝึกใจด้วยการทำสมาธิเอาใจไว้ภายในตัว จนกระทั่งค้นพบหนทางสู่ มรรค ผล นิพพาน ได้ในที่สุด เมื่อสังเกตุวิธีการฝึกสมาธิในประเทศไทย จะเห็นว่าล้วนแล้วแต่ฝึกสมาธิให้ใจอยู่ภายในตัว หรือ ฝึกให้มีสติอยู่กับตัวทั้งสิ้นค่ะ
 
เรามาดูคร่าวๆว่าในประเทศเรามีการฝึกสมาธิแบบไหนบ้าง โดยหนังสือ“สมาธิในพระไตรปิฎก วิวัฒนาการการตีความคำสอนเรื่องสมาธิในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทในประเทศไทย”  โดยวริยา ชินวรรโณ และคณะ สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อธิบายไว้ว่า เรื่องการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนาในประเทศไทยนั้น มีหลายสำนักเรียนที่เปิดสอน ซึ่งต่างก็มีเทคนิคในการปฏิบัติที่แตกต่างกันไป เช่น สำนักเรียนวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์มีแนวทางปฏิบัติสมาธิโดยให้เอาใจไว้ที่บริเวณท้อง หายใจเข้าภาวนา”พองหนอ” หายใจออกภาวนา ”ยุบหนอ” วางสติจับที่การยุบพองของท้อง  ส่วนสำนักเรียนในวัดทางภาคเหนือ (พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต) มีแนวทางการปฏิบัติธรรมสายอานาปานสติเจริญสมถะเป็นบาท แล้วจึงเจริญวิปัสสนา เอาใจไว้ที่บริเวณ จมูก(ต้นลม) หน้าอก(กลางลม) และช่องท้อง(ปลายลม)  หรือ สำนักเรียนวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ โดยพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) มีแนวทางปฏิบัติ คือ ต้องเจริญสมถะก่อนจึงใช้สมถะเป็นบาทในการเจริญวิปัสสนา โดยเมื่อนั่งสมาธิแล้วให้เอาใจไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ด(อยู่บริเวณกลางท้อง เหนือสะดือสองนิ้วมือของผู้ปฏิบัติ) เป็นต้นค่ะ เห็นไหมละคะทุกสำนักเรียนข้างต้นจะให้เอาไว้ภายในตัว หรือ ให้ใจอยู่กับเนื้อกับตัวทั้งสิ้นเลย
 
ดังนั้น สมาธิในพระพุทธศาสนาจึงเป็นการฝึกสัมมาสมาธิ (สมาธิที่ถูกต้องดีงาม) ที่ให้ประโยชน์ได้สูงสุดต่อผู้ฝึก นำพาให้เกิดความสงบนิ่ง เกิดปัญญาอย่างแท้จริง ดังนั้นหากเราผู้สนใจการฝึกสมาธิจะเลือกฝึกทั้งที ก็ขอให้เลือกการฝึกสมาธิในพระพุทธศาสนากันดีกว่าค่ะ เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านได้พิสูจน์มาแล้วว่า ดีจริง รู้แจ้งเห็นจริง เกิดประโยชน์ทั้งเบื้องต้น จนกระทั่งเบื้องปลายได้อย่างไม่มีประมาณเลยล่ะค่ะ

credit photo from http://livingawarenessmeditation.net/2013/04/06/lotus-heart-awareness/
Tag : สัมมา สมาธิ meditation

Comments to this story

Write a comment


1.  views readmore
ALL Most Viewed
ALL TOP Rated
1.  comments readmore
ALL Most Comment