สมาธิ คือ อะไร...What is Meditation
Print
December 20, 20132,428 views , 0 comments
สมาธิ คือ อะไร
What is meditation ?
เรื่องของสมาธิ นั้นก่อนที่เราจะเริ่มฝึกกัน หรือ บางท่านอาจจะได้เคยลองฝึกมาบ้างแล้ว เราเคยนึกดูเล่นๆ หรือไม่คะ ว่าสมาธินั้น คือ อะไรกันแน่?
หลายคนมื่อกล่าวถึงสมาธิ ก็เข้าใจว่า สมาธิเป็นเรื่องของพระสงฆ์ นักบวช ฤๅษี ฯลฯ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่คนทั่วๆไปเขาทำกัน จริงๆแล้วต้องบอกว่าการฝึกสมาธิไม่ใช่เรื่องที่ห่างไกลตัวเราเลย เราทุกคนใช้สมาธิกันทุกวัน ในทุกๆ กิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นการ ทำงาน การเรียน การขับรถ การเล่นกีฬา และอื่นๆ ลองนึกกันดูว่าเราต้องใช้สมาธิทั้งสิ้น มิเช่นนั้นเราจะไม่สามารถทำอะไรได้สำเร็จเลยค่ะ เช่น ทำงานถ้าไม่มีสมาธิพอ ก็จะเลิกกลางคัน ทำงานไม่สำเร็จ การเรียน ถ้าเราไม่มีสมาธิในการเรียนก็เรียนไม่รู้เรื่อง อ่านหนังสือก็จำไม่ได้ ขับรถถ้าไม่มีสมาธิ ก็อาจเกิดอุบัติเหตุได้เป็นต้น ดังนั้นเราจึงควรมีทัศนคติใหม่ว่าสมาธิเป็นเรื่องของทุกๆคนค่ะ
สิ่งที่เราควรเข้าใจให้ถูกต้องคือ สมาธิ มีประโยชน์กับทุกคน ใครที่ฝึกสมาธิมาอย่างดี จะประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างแน่นอน จะมากหรือจะน้อยก็ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของแต่ละท่านนะคะ อันนี้ไม่ได้พูดเกินจริงเลยค่ะ เช่น ถ้าเราได้รับการฝึกสมาธิมาอย่างดีในทุกช่วงของชีวิต เมื่อเป็นเด็กจะทำอะไรก็จะมีสมาธิ จะเรียนก็เข้าใจได้ง่าย เพราะตั้งใจฟังครูสอน จะอ่านหนังสือก็จำได้แม่นยำ โดยที่ไม่ได้ใช้เวลานานมาก ทำกิจกรรมอะไร เช่น วาดรูป ร้องเพลง เล่นกีฬา ก็สำเร็จได้ง่ายกว่าคนที่ไม่มีสมาธิ เมื่อโตขึ้นทำงานก็จะมีสมาธิที่จะคิดวิเคราะห์การงาน หรือ พัฒนางานของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญคนที่มีสมาธิจะมีความมั่นคงทางอารมณ์สูง เวลามีปัญหาอะไรในชีวิต ก็จะมีสติในการคิดใช้ปัญญาแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ดีกว่าคนที่ เอะอะโวยวาย ขาดสติ สุดท้ายการงานก็เสียหาย เป็นต้น...สรุปแล้ว “สมาธิดี มีชัยไปกว่าครึ่ง” ค่ะ
ดังนั้น สมาธิจึงเป็นเรื่องของการฝึกฝนอบรม พัฒนาจิตใจให้มีความมั่นคง ตั้งมั่น และทำให้มีคุณภาพทางจิตใจที่ดีขึ้น ที่สำคัญสมาธิสามารถฝึกได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติ และไม่จำกัดด้วยความเชื่อในศาสนาใดๆ ทั้งสิ้นค่ะ สำหรับเราซึ่งอยู่ในประเทศไทยที่เป็นเมืองพุทธ เราอาจจะรู้สึกว่าสมาธิ เป็นกิจของพระสงฆ์ ซึ่งไม่แปลกค่ะที่จะคิดอย่างนั้น เพราะแม้ว่าการฝึกสมาธิจะไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกในพระพุทธศาสนา (ก่อนหน้าที่จะมีพระพุทธศาสนาในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ก็มีการฝึกสมาธิมาก่อน) แต่ผู้ที่เป็นต้นแบบในการฝึกสัมมาสมาธิ (สมาธิที่ถูกต้องดีงาม) นั้นก็คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเองค่ะ ทำไมเราจึงมั่นใจได้ว่าสมาธิในแนวทางของพุทธศาสนาถูกต้อง นั่นก็เพราะว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านได้ค้นพบวิธีการฝึกสมาธิที่ทรงประสิทธิภาพ และประสิทธิผลสูงสุดจนกระทั่งท่านสามารถขจัดกิเลสภายในใจของท่านได้หมดสิ้น และบรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วจึงนำเอา Know How นั้นมาสอนแด่ผู้คนมากมายให้ได้บรรลุธรรม (ซึ่งก็คือ พระอรหันต์) ตามพระองค์ไป แล้วพระสงฆ์ก็ได้รักษา สืบทอด การฝึกสมาธิที่ถูกต้องดีงามนี้มาจนกระทั่งถึงยุคปัจจุบัน
หากจะอธิบายในแง่ที่เป็นแนววิชาการหน่อย เราสามารถพูดได้ว่า สมาธิ คือ อาการที่ใจตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว อย่างต่อเนื่อง หรือ อาการที่ใจหยุดนิ่งแน่วแน่ ไม่ซัดส่ายไปมา หรือการที่จิตกำหนดแน่วแน่อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ฟุ้งซ่าน นอกจากนี้สมาธิ ยังทำให้เกิดความสงบ สบาย และความรู้สึกเป็นสุข ที่เราสามารถสร้างขึ้นได้อย่างง่ายๆ ด้วยตัวเอง โดยที่ไม่ต้องไปเสียเงินทองไปซื้อหามาอย่างวัตถุสิ่งของทั่วไป เราจะดำรงชีวิตประจำวันอย่างเป็นสุข ไม่ประมาท เต็มไปด้วยสติสัมปชัญญะ และปัญญา
เป้าหมายการฝึกสมาธินั้นก็มีหลายระดับค่ะ ในเบื้องต้นเราสามารถฝึกสมาธิเพื่อประโยชน์ต่อตนเองดังที่กล่าวข้างต้น และเพื่อความสุขของคนรอบตัวเรา ในเบื้องกลางเราสามารถฝึกสมาธิเพื่อพัฒนาภาวะทางอารมณ์ จิตใจ ฝึกสติ เพื่อให้เกิดปัญญาเพื่อประโยชน์ในชีวิตในฐานะผู้ที่ยังครองเรือน และเบื้องปลาย หรือ ในขั้นสูงสำหรับนักบวชที่แสวงหาหนทางหลุดพ้นจากสังสารวัฏตามแบบอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าค่ะ ดังนั้นสมาธิจึงมีประโยชน์มากต่อทุกๆคน และไม่ใช่กิจสำหรับนักบวช หรือ พระสงฆ์เท่านั้นนะคะ
ขอให้เราลองถามตัวเองดังนี้ว่า :
- เรารักตัวเองหรือไม่
- เราปรารถนาให้ตัวเองมีสุขภาพกาย และ ใจที่ดีหรือไม่
- เราปรารถนาที่จะพัฒนาตัวเองให้ก้าวหน้าในชีวิตหรือไม่
- เราปรารถนาที่จะเป็นที่รัก เคารพ นับถือ ของผู้คนรอบข้างหรือไม่
- และ เราปรารถนาที่จะได้สัมผัสกับความสุขที่แท้จริงหรือไม่
ถ้าคำตอบคือ “ใช่” คุณควรจะลองฝึกสมาธิกันดู เราอาจจะไม่ได้หวังผลในเบื้องปลายอย่างพระภิกษุ และแค่ผลในเบื้องต้น และเบื้องกลาง ก็ทำให้เรามีความสุข ความสำเร็จแล้ว ดังนั้นขอให้ทุกคนได้มาลองฝึกสมาธิกันนะคะ
Tag :
Meditation
peaceful
happiness
สมาธิ
สงบ
มีความสุข
Comments to this story