Follow Us

Story We Share

STORY BY Sasha (Master)

บุญ คือ อะไร (ตอนที่ 1)

Print January 06, 20145,314 views , 0 comments

บุญ คือ อะไร (ตอนที่ 1)
What is Boon or Merit? (Part 1)


คนไทยเราจะคุ้นเคยกับคำว่า “บุญ” กันอยู่แล้ว แต่ว่าพอจะถามว่า “บุญ คือ อะไร” กันจริงๆ เอ...แล้วเราจะตอบกันว่าอย่างไรดี?
 
เรามาเริ่มต้นที่ว่า “บุญ คืออะไร” กันก่อน ให้เราลองนึกๆ กันดูนะคะ ที่ผ่านมาในชีวิตเราทำอะไรบ้างที่เรียกว่าบุญ เช่น ตักบาตร ถวายภัตตาหาร ถวายถังสังฆทาน ทำบุญสร้างวัด โบสถ์ ศาลา วิหาร ฯลฯ เมื่อลองประมวลดูแล้ว เหมือนว่าบุญจะเป็นสิ่งที่เราทำเกี่ยวเนื่องในพระพุทธศาสนาที่เป็นการให้ทาน หรือ ถวายปัจจัย (เงินทอง)
 
ถ้าบุญคือ การถวายปัจจัย ให้ทาน แล้ว การรักษาศีล ถือเป็นบุญไหม? การเจิรญสมาธิภาวนาเรียกว่าเป็นการทำบุญไหม?  แล้วถ้าไม่เกี่ยวกับพุทธศาสนาเลย เช่น การช่วยเหลือผู้อื่น การดำรงตนเป็นคนดีของสังคม ดูแลคุณพ่อคุณแม่ ถือเป็นการทำบุญไหม?
 
มีหลายๆ ท่านเข้าใจว่าการทำบุญเป็นอะไรที่เกี่ยวกับการให้ทาน ให้ด้วยทรัพย์สินเงินทองกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา แยกกันกับการรักษาศีล เจริญสมาธิภาวนา และไม่เกี่ยวกับการทำความดีทั่วๆไป แต่ก่อนที่เราจะดูว่าบุญคืออะไร?ขอยกหลักธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านได้กล่าวเอาไว้เกี่ยวกับทางมาแห่งบุญมาเล่าให้ฟังค่ะ
 
 ทางมาแห่งบุญมีทั้งสิ้น 10 ประการ เรียกว่า “บุญกิริยาวัตถุ 10” หรือ การกระทำที่เมื่อทำแล้วจะก่อให้เกิดบุญ หรือ เป็นทางมาแห่งบุญ 10 อย่างนั่นเอง ใน 10 อย่าง่นี้ สารมารถกล่าวในเบื้องต้นแบบย่อได้เป็น “บุญกิริยาวัตถุ 3”ซึ่งรายละเอียดในตอนนี้ขออธิบาย บุญกิริยาวัตถุ 3 กันก่อน
 
บุญกิริยาวัตถุ 3 หมายถึง  ที่ตั้งแห่งการทำความดี 3 ประการ คือ ทาน ศีล ภาวนา มีรายละเอียดดังนี้ค่ะ

1. การทำบุญด้วยการให้ (ทานมัย) คือ เมื่อเราได้ให้ทาน บุญก็จะเกิดขึ้น ซึ่งถ้าจะให้ดีนั้นควรเป็นการให้โดยไม่หวังผลตอบแทน และการให้นั้นก็ไม่ได้จำกัดแค่ให้ด้วยเงินทอง ทรัพย์สินเท่านั้น เรามาดูกันว่าเราสามารถทำบุญด้วยการให้อะไรบ้าง

       1) อามิสทาน    คือ การให้ด้วยวัตถุสิ่งของ ซึ่งก็คือ การบริจาคด้วยทรัพย์นั่นเอง
       2) ธรรมทาน   คือ การให้พระธรรมคำสอนแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นทาน เช่น การพูด เล่า อธิบายธรรมะให้ผู้อื่นได้ฟัง การพิมพ์หนังสือธรรมะเป็นทาน ทำให้ผู้อื่นรู้บาปบุญ คุณโทษ รู้กฎแห่งกรรม สามารถปิดนรก เปิดสวรรค์ให้ตนเองได้ เป็นต้น ซึ่งการให้ธรรมทานนี้คือ ว่าเป็นการทานอังสูงสุด ดังพุทธพจน์ที่ว่า  “สัพพะ ทานัง ธัมมะ ทานัง ชินาติ”  การให้ธรรมทานชนะการให้ทั้งปวง

หมายเหตุ : นอกจากทานทั้ง 2ประเภทข้างต้นแล้ว หลายๆ ท่าน ก็ได้รวมเอา อภัยทาน มาเป็นส่วนหนึ่งของบุญกิริยาวัตถุ ข้อแรกนี้ด้วย และมักจะกล่าวว่า “อภัยทาน คือ ทานอันสูงสุด เป็นปรมัตถบารมี”และมีอานิสงส์มากกว่า ธรรมทาน ซึ่งก็มีการถกเถียงกันอยู่บ้างในประเด็นนี้ จะขออธิบายไว้ตรงนี้ค่ะว่า เมื่อได้เช็คในพระไตรปิฎกดูแล้วพบว่า ได้มีการกล่าวเรื่อง “อภัยทาน”เอาไว้ตรงๆ เพียงที่เดียวในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค ข้อ 900ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการขออภัยทานจากท้าวสมพรจอมอสูร ซึ่งไม่ได้อยู่ในหมวดประเภทของทานเลยค่ะ...ดังนั้นจึงขอสรุปแบบให้เราไม่สับสนว่า ประเภทของทานในพระไตรปิฎกนั้นมีเพียง 2 อย่าง คือ อามิสทาน และ ธรรมทาน (มีในพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกน ข้อ 386, พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐ-ธรรมบท ข้อ 278, พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐ-ธรรมบท ข้อ 280 และ 287 เป็นต้น) ซึ่งธรรมทานมีอานิสงส์ หรือ ก่อให้เกิดบุญมากกว่าอามิสทาน

ส่วนอภัยทานนั้นโดยพิจารณาแล้วดูจะเป็นเรื่องของการฝึกใจด้วยการให้อภัย คือ การ การไม่เอาโทษการลดโทษ ไม่ได้อยู่ในหมวดทานค่ะ และพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่ได้ตัดสินชี้ขาดว่า อภัยทาน มีอานิสงส์มากธรรมทานรึเปล่า เอาว่าทั้งธรรมทานและ อภัยทานต่างเป็นสิ่งที่ดีทั้งนั้น และให้อานิสงส์ที่ต่างกัน (ธรรมทาน ให้แล้วจะได้ปัญญา ได้สัมมาทิฐิ ส่วนอภัยทาน ให้แล้วจะได้ความปลอดภัย การลดโทษกลับมา) ซึ่งก็ดีทั้งคู่ ดังนั้นเราก็ทำทั้งสองอย่างเลยเป็นสิ่งที่ดีที่สุดค่ะ
 
เมื่อเราได้ให้ทานแล้ว บุญก็เกิดขึ้นส่งผลให้ทั้งในเบื้องต้นคือในทันที ในชาตินี้ และภพชาติต่อๆไป คือ เป็นการชำระจิตใจของผู้ให้ ทำให้กิเลส “ตัวโลภ” ลดน้อยลง เพราะเมื่อใจรักในการให้ ความรู้สึกโลภอยากได้ของคนอื่น จะลดน้อยลงไปตามลำดับ และยังส่งผลให้ภพชาติต่อๆไป เป็นผู้ที่ร่ำรวย มีโภคทรัพย์มาก ไม่เดือดร้อนด้วยประการทั้งปวง ด้วยวัตถุที่หลายหลายในการให้ทาน ก็ส่งผลให้มีอานิสงส์ที่แตกต่างกันออกไป (ในรายละเอียดของการให้ทานจะนำมาเล่าในตอนเฉพาะของการให้ทานอีกทีค่ะ เพราะแค่เรื่องทานก็เล่าได้เยอะมากๆ)
 
2. การทำบุญด้วยการรักษาศีล (สีลมัย) คือ เมื่อเรารักษาศีลแล้ว บุญก็จะเกิดขึ้น “ศีล แปลว่า ปกติ” การรักษาศีล คือ การรักษาความเป็นปกติของมนุษย์ ซึ่งก็คือการละเว้นต่อการกระทำความชั่วนั่นเอง โดยการรักษาศีลนั้นก็มีหลายระดับ ได้แก่ ศีล 5 (สำหรับคนทั่วไป) ศีล 8 (สำหรับ อุบาสก อุบาสิกาผู้ใกล้ชิด พระพุทธศาสนา) ศีล 10 (สำหรับ สามเณร) และศีล 227 (สำหรับพระสงฆ์)
 
เรามาดูที่ศีล 5 สำหรับบุคคลทั่วไป กันค่ะ

      1) ปาณาติปาตา เวรมณี คือ งดเว้นจากการทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไป
      2) อทินนาทานา เวรมณี คือ งดเว้นจากการถือเอาของที่เจ้าของมิได้ให้
      3) กาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณี คือ งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
      4) มุสาวาทา เวรมณี คือ งดเว้นจากการกล่าวเท็จ (รวมถึงพูดคำหยาบ ส่อเสียด และเพ้อเจ้อ)
      5) สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี คือ งดเว้นจากการดื่มสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท (รวมถึงสิ่งเสพติดทุกชนิด)
 
ปกติมนุษย์เราจะต้องธำรงค์ไว้ซึ่งศีล 5 การที่เรามีศีลนั้น ทำให้มนุษย์เราต่างจากสัตว์อื่นๆ ในโลกใบนี้ ที่ในชีวิตมีเพียง การหากิน สืบพันธุ์ และพักผ่อนนอนหลับ หากเราไม่รักษาศีลนั่นหมายถึง ความเป็นมนุษย์ของเราก็จะลดลงไปตามลำดับ สมมติว่าศีล 5 ข้อ คือ 100% ของการเป็นมนุษย์ ถ้าเราละเมิดไป 1 ข้อ ก็เปรียบให้เข้าใจง่ายๆ ว่า ความเป็นมนุษย์ของเราลดลงไป 20%นั่นเอง เพราะสัตว์ชนิดอื่นๆ ฆ่ากันเป็นปกติ  แย่งหรือ ขโมยอาหารกันเป็นปกติไม่เลือกว่าจะสืบพันธุ์กับใคร แม้จะเป็นพ่อ แม่ พี่ หรือ น้อง กันเป็นปกติ  ขู่ก้องร้องคำราม เห่าหอน กันเป็นปกติ ดังนั้นขอให้เรารักษาศีลกันไว้เพื่อรักษาความเป็นมนุษย์ อันเป็นสัตว์ประเสริฐ์กันค่ะ
 
เมื่อเรารักษาศีลแล้ว ก็ได้ชื่อว่าให้ความปลอดภัยแก่ชีวิต และทรัพย์สินของผู้อื่น บุญก็เกิดขึ้นจากการรักษาศีล ส่งผลให้เราในชาตินี้เบื้องต้น คือ เป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีภัยต่อใครๆ ไปที่ไหนก็มีแต่คนรักยกย่อง ไร้ซึ่งศัตรู อาจหาญในทุกที่ ในภพชาติต่อๆไปก็จะทำให้ ได้รูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติครบถ้วย (ในรายละเอียดเรื่องศีลก็จะมีการอธิบายแยกเป็นอีกหัวข้อนึงในภายหลัง)
 
3. การทำบุญด้วยการภาวนา (ภาวนามัย) คือ เมื่อเราเจริญภาวนา หรือ ฝึกสมาธิแล้วบุญก็จะเกิดขึ้น เพราะการฝึกฝนจิตใจให้สงบเยือกเย็น เป็นสมาธิ เป็นพื้นฐานให้เกิดปัญญา รู้แจ้งในสัจธรรม เบื้องต้นการภาวนามี 2 ชนิด คือ

            1. สมถภาวนา คือ การฝึกอบรมจิตใจเกิดความสงบ
            2. วิปัสสนาภาวนา คือ การศึกษาอบรมปัญญาให้เกิดความรู้แจ้ง
 
การเจริญภาวนานั้นส่งผลให้จิตใจเราสงบ หยุดนิ่ง และเมื่อใจเราปราศจาคความคิดใดๆ นั่นหมายถึง ใจเราบริสุทธิ์ปราศจากกิเลส เป็นหนทางเบื้องต้นแห่งมรรค ผล นิพพานทีเดียว โดยการทำทานนั้น จะส่งผลต่อการรักษาศีล คือ ทำให้รักษาศีลได้ง่ายขึ้น เพราะใจไม่คิดเบียดเบียนใคร  และเมื่อรักษาศีลดีแล้ว จะส่งผลให้เจริญภาวนาได้ง่ายขึ้น เพราะจิตใจสงบ ปราศจากศัตรู หรือความหวาดระแวง ไม่มีเรื่องต้องคิดกังวลมาก และเมื่อใจหยุดได้ เท่ากับเราได้เชื่อมกับแหล่งบุญอันยิ่งใหญ่ บุญจึงเกิดขึ้นอย่างมหาศาล จากการฝึกสมาธิ
 
มาถึงตรงนี้แล้วจากคำถามเบื้องต้นว่า บุญ คือ อะไร? ทาน ศีล สมาธิ เป็นบุญหรือไม่? เราคงจะพอตอบกันได้แล้วว่า “บุญ คือ กระแส หรือ พลังบริสุทธิ์ที่เกิดขึ้นจากการทำความดี” เมื่อไหร่ก็ตามที่เราได้ทำความดี (เบื้องต้น คือ ทาน ศีล ภาวนา) กระแสบุญก็จะเกิดขึ้นมา เป็นกระแสแห่งความบริสุทธิ์ ที่มีพลังสามารถส่งผลให้เกิดอานิสงส์ที่ดีต่อเรามากมายข้ามภพข้ามชาติ นอกจากนี้บุญยังเปรียบประดุจแก้วสารพัดนึก ที่เมื่อเราสร้างบุญด้วยการทำความดีต่างๆ แล้ว หากเราอธิษฐานจิตจำเพาะเจาะจงลงไปในสิ่งที่เราปรารถนา พลังแห่งบุญนั้นหากมีเพียงพอ ก็จะส่งผลให้สิ่งที่เราปรารถนาสำเร็จได้ในที่สุด (ในเรื่องการอธิษฐานจิตนี้ก็จะขอแยกอธิบายในรายละเอียดต่อไป)
 
ส่วน ทาน ศีล ภาวนา ก็แน่นอนว่า เป็นส่วนหนึ่งของทางมาแห่งบุญ  บุญเปรียบเสมือนภาพใหญ่ของการทำความดีทั้งหมด และ ทาน ศีล ภาวนา ก็คือส่วนหนึ่งในทางมาแห่งบุญทั้ง 10 ประการนั่นเอง ส่วนว่าการทำความดีอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เช่น การช่วยเหลือผู้อื่น การดำรงตนเป็นคนดีของสังคม ดูแลคุณพ่อคุณแม่ ถือเป็นการทำบุญไหม? จะขอตอบในหัวข้อถัดไปเรื่อง บุญกิริยาวัตถุ 10 ประการนะคะ...ขอให้ทุกท่านหมั่นสั่งสมบุญกันให้ได้ทุกวัน แค่แบ่งปัน ไม่เบียดเบียน และทำจิตให้สงบผ่องใส เท่านี้บุญก็เกิดขึ้นอย่างมากมายนับไม่ได้ทีเดียวค่ะ


Tag : dhamma dharma พระพุทธศาสนา ธรรมะ พระไตรปิฎก บุญกิริยาวัตถุ

Comments to this story

Write a comment


1.  views readmore
ALL Most Viewed
ALL TOP Rated
1.  comments readmore
ALL Most Comment