พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาสากล
(Buddhism is universal religion)
“ธรรมะ” ในพระพุทธศาสนานั้นเป็นเรื่องสากล เป็นสัจธรรมความจริงของชีวิต ทำไมถึงกล่าวเช่นนี้? มาลองดูคำว่า “ธรรมะ” กันค่ะ ธรรมะ ก็คือ ธรรมชาติ นั่นเอง และหลักธรรมในพระพุทธศาสนาก็เป็นสัจธรรมเที่ยงแท้ ไม่จำกัดด้วยกาลเวลา เหมือนอย่างเช่นธรรมชาติทั่วๆไปบนโลกใบนี้ เช่น พระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก ตกทางทิศตะวันตก เรื่องการขึ้นและตกของพระอาทิตย์เป็นสัจธรรมความจริงที่ไม่เปลี่ยนแปลง และไม่จำกัดด้วยกาลเวลา คือ ไม่ว่าจะยุคสมัยไหนพระอาทิตย์ก็ขึ้นแบบนี้ เป็นต้น
สำหรับหลักธรรมในพุทธศาสนาก็เป็นสัจธรรม และไม่จำกัดกาล ยกตัวอย่างเช่น คนเราทุกคนมีความเกิด ความแก่ ความเจ็บ และความตาย เป็นของธรรมดา และความตายก็ไม่มีนิมิตหมาย เราไม่ควรตั้งอยู่ในความประมาทในชีวิต คิดว่าจะอยู่อีกนาน พระพุทธเจ้าจึงสอนให้เร่งสั่งสมความดีเอาไว้ หรือ อริยสัจ 4 (ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ) ทุกข์ เหตแห่งทุกข์ ความพ้นทุกข์ และหนทางแห่งการพ้นทุกข์ คือ สัจธรรมที่อธิบายถึงเรื่อง “ทุกข์” ทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับสรรพสัตว์ ซึ่งล้วนมีสาเหตุทั้งสิ้น ถ้าเรามีสติพบสาเหตุที่แท้จริงนั้นได้ เราก็จะพบหนทางแห่งการพ้นทุกข์ จนสามารถนำพาตนเองให้พ้นทุกข์ได้ในที่สุด...เป็นยังไงบ้างคะ นี่เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่าคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นสัจธรรมจริงๆ ไม่มีใครสามารถเถียงได้เลยว่าไม่ใช่ และไม่ว่าจะยุคไหนเราทุกคนก็ยังมีทุกข์กันเป็นของธรรมดานะคะ นอกจากนี้ยังมีคำสอนอีกมากมายเชียวค่ะ ที่มีประโยชน์ถ้าเราจะศึกษาและนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันของเรา
พระพุทธศาสนาไม่ได้จำกัดความรู้ และการปฏิบัติอยู่เพียงแค่ชาวพุทธเท่านั้น ที่สำคัญคือพระองค์ไม่เคยบังคับให้ใครต้องมานับถือ แต่หากผู้ใดได้มาศึกษาว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร และเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดี เป็นประโยชน์ต่อตนเอง จะน้อมนำไปปฏิบัติก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเลิกนับถือสิ่งที่ตัวเองเคยนับถือ พระองค์ให้อิสระแก่ทุกคนได้เลือกในสิ่งที่เหมาะสมกับตนเองด้วยความเต็มใจ ดังนั้นพุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาสากล การปฏิบัติสมาธิก็เป็นสิ่งสากลที่ทุกคนทำได้ โดยไม่ขัดแย้งกับความเชื่อดั้งเดิมของตนเองค่ะ
ในเรื่องความเป็นสากลของพระพุทธศาสนานี้ มีบุคคลสำคัญของศตวรรษนี้กล่าวยืนยันเอาไว้เช่นเดียวกัน เขาผู้นั้นคือ อัลเบิร์ต ไอสไตน์ ในช่วง 1 ปีก่อนที่เขาจะเสียชีวิตนั้น มหาวิทยาลัยปรินซ์ตันได้ตีพิมพ์งานเขียนชิ้นหนึ่งของเขาชื่อเรื่อง " The Human Side " ซึ่งเขาได้กล่าวไว้ว่า
The religion of the future will be a cosmic religion. It should transcend personal God and avoid dogma and theology. Covering both the natural and the spiritual, it should be based on a religious sense arising from the experience of all things natural and spiritual as a meaningful unity. Buddhism answers this description. If there is any religion that could cope with modern scientific needs it would be Buddhism. (Albert Einstein)
"ศาสนาในอนาคต จะต้องเป็นศาสนาสากล ศาสนานั้นควรอยู่เหนือพระเจ้าที่มีตัวตน และควรจะเว้นคำสอนแบบสิทธันต์ (คือเป็นแบบสำเร็จรูปที่ให้เชื่อตามเพียงอย่างเดียว) และแบบเทววิทยา(คือพึ่งเทวดาเป็นหลักใหญ่) ศาสนานั้นเมื่อครอบคลุมทั้งธรรมชาติและจิตใจ จึงควรมีรากฐานอยู่บนสามัญสำนึกทางศาสนา ที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ต่อสิ่งทั้งปวง คือ ทั้งธรรมชาติและจิตใจอย่างเป็นหน่วยรวมที่มีความหมาย พระพุทธศาสนาตอบข้อกำหนดนี้ได้....ถ้าจะมีศาสนาใดที่รับมือได้กับความต้องการทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ปัจจุบัน ศาสนานั้นก็ควรเป็น พระพุทธศาสนา"
ความเป็นนักวิทยาศาสตร์แห่งยุคของอัลเบิร์ต ไอสไตน์ นี้ทำให้เรา (โดยเฉพาะคนที่มักจะบอกตัวเองว่าเป็นคนหัวก้าวหน้า สมัยใหม่ มีแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์) ต้องตระหนักว่าขนาดผู้ที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ เชื่อในสิ่งที่พิสูจน์ได้ ยังกล่าวถึงพระพุทธศาสนาว่าเป็นศาสนาสากล สามารถครอบคลุมทั้งธรรมชาติ และจิตใจ สามารถรับมือกับแนวทางของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ได้ แล้วเราล่ะ! เราจะลองหันกลับมามองพระพุทธศาสนากันใหม่สักหน่อยไหม ว่าจริงๆ แล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านค้นพบสัจธรรมอะไรในวันที่ท่านตรัสรู้ธรรมใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ แล้วท่านสอนอะไรเอาไว้บ้างตลอด 45 พรรษา แห่งการเผยแผ่พระสัจธรรมคำสอนของท่าน และเมื่ออ่านแล้วเราจะสามารถมาปรับ หรือ ประยุกต์ ใช้กับตัวของเราในยุคปัจจุบันนี้ได้อย่างไรบ้าง...ที่กล่าวว่าเราต้องนำมาประยุกต์นี้ เนื่องจากว่าภาษาต่างๆ ที่ใช้บันทึกคำสอนของพระองค์ซึ่งถูกรวบรวมไว้ (ซึ่งเราเรียนกกันว่า “พระไตรปิฎก”) เป็นภาษา และเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสมัยสองพันห้าร้อยกว่าปีที่ผ่านมา บางหัวข้อธรรมอ่านแล้วก็ยังคงเข้าใจได้ง่าย แต่บางหลักธรรมอ่านแล้วไม่เข้าใจ เนื่องจากเราไม่ทราบถึงเหตุการณ์ และสถานการณ์ ณ เวลานั้นๆ ที่ทำให้พระพุทธเจ้าตรัสสอนหลักธรรมนั้นขึ้นมา เราจึงจำเป็นต้องศึกษาให้เข้าใจว่าพระองค์สอนอะไร แล้วจึงปรับให้เข้ากับสถานการณ์ในยุคปัจจุบันได้
โดยส่วนตัวแล้ว จะชอบคำของชาวต่างชาติที่ให้คำจำกัดความว่าพระพุทธศาสนาเป็นสัจธรรม และ เป็น “Way of Life” คือ เป็นแนวทางในการใช้ชีวิต ที่มีความสมดุล มีความพอดี ตามหลักทางสายกลาง หรือ “The Middle Way” ซึ่งทางสายกลางนี้ในระดับเบื้องต้นถ้าผู้ใดได้ปฏิบัติตามก็จะทำให้ชีวิต ประสบแต่ความสุข เพราะรู้จักปรับใจให้พอดีกับเหตุการณ์ และสถานการณ์ต่างๆ แม้ต้องประสบกับสถานการณ์ที่เลวร้าย ก็จะสามารถปรับใจไม่ให้คล้อยตามไปกับเรื่องราวเหล่านั้นจนกระทั่งเสียความสมดุลของใจได้ หรือหากแม้ว่าบางครั้งเราต้องประสบกับเรื่องที่ต้องทุกข์ใจมาก แต่ก็จะสามารถดึงใจของตนกลับมาสู่สภาวะปกติได้รวดเร็วกว่า
เมื่อเราพอจะเห็นภาพกันแล้วว่าพระพุทธศาสนา ไม่ใช่เรื่องลึกลับ งมงาย หากแต่เป็นเรื่องของเหตุ และผล สัจธรรมความจริงแท้ของโลกและจักรวาล เช่นนี้ เราก็น่าจะลองหันมาสนใจศึกษาคำสอนอันทรงคุณค่าของพระสมมาสัมพุทธเจ้ากันดู แล้วจะพบว่าคำสอนของพระพุทธองค์นั้นสามารถนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับทุกๆ คนได้อย่างแท้จริงค่ะ
Tag :
dhamma
dharma
พระพุทธศาสนา
ธรรมะ
พระไตรปิฎก
Comments to this story