Follow Us

Story We Share

STORY BY Sasha (Master)

หัวใจของพระพุทธศาสนา

Print January 06, 201412,090 views , 0 comments

หัวใจของพระพุทธศาสนา
(The Heart of Buddhism)

 

เราในฐานะชาวพุทธนั้น สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ เราควรจะทราบว่าพระพุทธเจ้าสอนเรื่องอะไร เพื่อที่เราจะได้น้อมนำมาปฏิบัติ...ถามว่าทำไมถึงต้องปฏิบัติ? ก็เพราะว่าพระพุทธศาสนาเป็นเรื่อของ ปริยัติ (ศึกษาจากการอ่าน การฟัง) ปฏิบัติ (นำเอามาปฏิบัติ) และ ปฏิเวธ (เกิดผลที่ได้จากการปฏิบัติ) ดังนั้น เมื่อเราศึกษาคำสอนในพระพุทธศาสนาแล้ว สิ่งที่เราควรทำต่อไปคือ พิสูจน์ด้วยตัวเองว่า สิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนดีจริงหรือไม่ ด้วยการนำมาลองใช้จริงในชีวิตประจำวันของเราเอง จนกระทั่งเกิดผล แล้วเรากลองพิจารณาดูว่าสิ่งที่ท่านสอนเรานั้นให้ประโยชน์อย่างไรกับเราบ้างค่ะ

 

สำหรับผู้ที่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นศึกษาธรรมข้อไหนก่อน ขอให้เรามาดูที่ “หัวใจพระพุทธศาสนา” หรือ “โอวาทปาติโมกข์” กันเพราะเป็นพระธรรมคำสอนที่พระพุทธองค์ตรัสเอาไว้เป็นหลักเบื้องต้นของชาวพุทธ โดยท่านได้ให้ โอวาทปาติโมกข์ไว้ 3 อย่าง 1.การไม่ทำบาปทั้งปวง 2.การทำกุศลให้ถึงพร้อม  3.การชำระจิตของตนให้ผ่องใส  ซึ่งหากจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ การละชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใส(ด้วยการฝึกสมาธิ) นั่นเองค่ะ

 

โอวาทปาติโมกข์นี้ เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ง่ายๆในชีวิตประจำวัน  ก็แค่ไม่ทำสิ่งที่ไม่ดี ทำแต่ความดี และฝึกสมาธิ แค่นี้เอง แต่สิ่งที่เราควรจะศึกษาให้ชัดเจนลงไปคือ ที่ว่าละชั่ว เราจะละยังไง อะไรคือ เกณฑ์วัดว่าสิ่งไหนดี สิ่งไหนชั่ว? ถ้าเรายังมองไม่ออก ก็ยากค่ะที่เราจะรู้จักละชั่ว และทำดีได้ถูกต้อง บางคนอาจจะคิดว่าไม่ยาก แต่เรามาลองดูตัวอย่างนี้สักนิด

 

สมมติว่าเราเห็นสัตว์กำลังได้รับความทุกข์ทรมาน แล้วมีคนแนะนำว่าให้ฆ่ามันซะเพื่อที่มันจะได้ไม่ทรมาน คุณจะตัดสินใจอย่างไร?   ถ้าคุณเห็นคนหนึ่งที่ร่ำรวยมาจากการทุจริต และมีคนจนอีกมากที่ต้องการเงินมาช่วยชีวิต แล้วคุณสามารถทำอย่างโรบินฮูดได้ คุณจะโขมยทรัพย์ของคนรวยเหล่านั้นมาให้คนจนรึเปล่า? ถ้ามีชายคนหนึ่งรักกับหญิงที่แต่งงานแล้วด้วยความบริสุทธิ์ใจ โดยที่สามีของหญิงคนนี้ได้ทารุณทุบตีหญิงที่เขารักอยู่ทุกวัน คุณคิดว่าการที่ชายผู้นี้ลักลอบได้เสียกับหญิงคนนี้แล้วพาหนีออกมาจากสภาพที่เลวร้ายเป็นสิ่งที่ควรทำหรือไม่? ถ้าคุณทราบว่าญาติของคุณเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายต้องเสียชีวิตใน 3 เดือน จากคุณหมอที่คุณสนิท คุณละเลือกอะไรระหว่างบอกความจริงกับญาติของคุณ หรือ เลือกที่จะปิดบังเพื่อให้เขาสบายใจ? สุดท้ายถ้าคนที่คุณเคารพรักขอ หรือ สั่งให้คุณซื้อบุหรี่ หรือ เหล้าให้เขาหน่อยเพราะเมื่อเขาได้สูบ หรือ ดื่มแล้วเขามีความสุข คุณจะช่วยเขาหรือไม่? คำถามเหล่านี้ให้คุณลองนึกตอบในใจดู แล้วเราจะดูกันในตอนท้ายว่าอะไรคือ ปัจจัยที่จะช่วยเราตัดสินใจนะคะ

 

ส่วนข้อสุดท้ายทำใจให้ผ่องใส หรือ ฝึกสมาธินั้น ในปัจจุบันก็มีการฝึกสมาธิอยู่หลายอย่างหลายแนว แล้วแบบไหนจึงจะเรียกได้ว่า เป็นการฝึกสมาธิที่ถูกต้อง? คำถามเหล่านี้มีคำตอบที่ทำให้เราเข้าใจง่ายๆค่ะ มาดูกันเลย

 

หัวข้อที่ 1. การไม่ทำบาปทั้งปวง

เรื่องของการกระทำนั้นเราสามารถทำได้อยู่ 3 ทาง ไม่มีเกินกว่านี้แน่นอน คือ ทางกาย ทางวาจา และทางใจ ซึ่งทั้งสามทางนี้เราสามารถทำได้ทั้ง การกระทำดี และการกระทำที่ไม่ดี โดยทั่วไปเราจะได้ยินคำว่า “กรรม” คำนี้มีความหมายว่า “การกระทำ” ซึ่งเป็นคำกลางนะคะ ไม่ได้มีความว่าในเชิงดี หรือไม่ดี อันนี้ต้องขออธิบายให้ชัดเจนสักนิด เนื่องจากคนจำนวนมากมักเข้าใจผิดว่า คำว่า “กรรม” แปลว่า มีความหมายในเชิงลบว่าเป็นการทำชั่ว เรามาทำความเข้าใจกันให้ถูกนะคะว่า “กรรม” เป็นคำกลาง แปลว่าการกระทำ ถ้าทำดีก็เรียก “กรรมดี” ถ้าทำชั่วเรียกว่า “กรรมชั่ว” ค่ะ

 

การละเว้นการกระทำชั่วทางกาย(กายสุจริต) มี 3 อย่าง คือ 1.ไม่ฆ่าสัตว์ หรือ ทำร้ายเบียดเบียนให้ได้รับความทุกข์ (สัตว์ในที่นี้รวมทั้งมนุษย์ และสัตว์โลกทุกชนิด) 2. ไม่ลักทรัพย์ รวมถึงไม่ฉ้อฉล คอรัปชั่น ยักยอก และอื่นๆ  และ 3. ไม่ประพฤติในกาม คือ ไม่ล่วงละเมิดในหญิงหรือชาย ที่ไม่ควรจะละเมิด เช่น หญิงชายที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ หรือยังอยู่ในปกครองของพ่อแม่ผู้ปกครอง หญิงชายที่มีคู่ครองแล้ว หรือ ผู้ที่เป็นนักบวชประพฤติพรหมจรรย์เป็นต้น  นี้เป็นการงดเว้นทำชั่วทางกาย

 

การงดเว้นการกระทำชั่วทางวาจา (วจีสุจริต) มี 4 อย่าง คือ 1. การไม่พูดเท็จคือพูดโกหก รวมไปถึงการปกปิด พูดไม่ครบถ้วนตามจริง บิดเบือน ทำให้เข้าใจผิด  2.การไม่ด่าว่าให้เสียหาย หรือใช้คำหยาบคาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง  3. การไม่พูดส่อเสียด คือ พูดแทงใจคนให้เจ็บช้ำน้ำใจ หรือยั่วยุให้คนเกลียดชัง ขัดแย้งกัน  4. การไม่พูดเพ้อเจ้อ คือ พูดทีเล่นทีจริงไร้สาระไม่เกิดประโยชน์ ทั้งหมดนี้ถือเป็นการงดเว้นการทำชั่วทางวาจา

 

การงดเว้นการกระทำชั่วทางใจ (มโนสุจริต) มี 3 อย่าง คือ 1. การไม่คิดพยาบาทคิดปองร้ายใคร คือ เมื่อใครทำอะไรไม่ดีกับเราก็ไม่คิดอาฆาตพยาบาท และไม่คิดตอบโต้ล้างแค้นกลับ 2. การไม่คิดโลภอยากได้ของๆเขา พอใจในสิ่งที่ตนเองมี ไม่คิดอิจฉาริษยา 3. การไม่คิดเห็นผิดจากธรรมนองครองธรรม คิดทำแต่สิ่งที่ดีมีศีลธรรม นี้จัดเป็นการงดเว้นความชั่วทางใจ

 

ทั้งหมดนี้เป็นการงดเว้นความชั่วทั้งทางกาย วาจา และใจ หรือ งดเว้นจาก “อกุศลกรรมบท 10”  คือ การกระทำที่เป็นอกุศล 10 ประการ

 

หัวข้อที่ 2 การทำกุศลให้ถึงพร้อม

การทำกุศลให้ถึงพร้อม ก็คือ การทำแต่ความดี และสิ่งที่เป็นกุศลธรรม ซึ่งกระทำได้ 3 ทางเช่นเดียวกัน คือ ทางกาย ทางวาจา และทางใจ เป็นการกระทำที่ตรงข้ามกับอกุศลกรรมบท 10 ประการ ดังนี้  

 

การกระทำความดีทางกาย สามารถทำได้ 3 อย่าง คือ 1. การไม่เบียดเบียนทำร้าย หรือ ฆ่า ตรงกันข้ามให้มีเมตตาช่วยเหลือ เมื่อเห็นคนหรือ สัตว์ได้รับความเดือดร้อนเท่าที่จะสามารถช่วยได้  2. ไม่ลักโขมย ฉ้อโกงคอรัปชั่น หรือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้อนุญาติ ในทางตรงข้ามยินดีที่จะให้ทาน หรือบริจาคทรัพย์สิน สิ่งของให้กับผู้ที่เดือดร้อน 3. ไม่ประพฤติผิดในกาม และ ลองฝึกตนให้ยิ่งขึ้นด้วยการรักษาศีล8 ในวันพระ หรือ วันสำคัญทางศาสนา

 

การกระทำความดีทางวาจา สามารถทำได้ 4 อย่าง คือ 1. การพูดแต่ความจริง พูดให้คนเข้าใจไปตามจริง โดยที่ไม่ทำร้ายจิตใจใคร  2.การพูดแต่ปิยวาจา พูดคำสุภาพ ให้ผู้ที่ได้รับฟังเกิดความชุ่มเย็นใจ  3. การพูดให้ผู้ฟังมีความสุข พูดให้คนรักกัน สมัครสมานสามัคคีกัน 4. การพูดแต่สิ่งที่มีประโยชน์ มีสาระ เกิดผลดีต่อผู้อื่น

 

การกระทำความดีทางใจ สามารถทำได้ 3 อย่าง คือ 1. การไม่คิดพยาบาทคิดปองร้าย ในทางตรงข้ามมีแต่การให้อภัยต่อผู้ที่กระทำไม่ดีต่อเรา  2. การพอใจ และมีความสุขในสิ่งที่ตนมี และยินดีในความดีของผู้อื่น 3. การมีสัมมาทิฐิ คิดถูก เห็นถูกตามธรรมนองคลองธรรม

 

การทำความดีทั้ง 10 ประการนี้ เราเรียกว่า “กุศลกรรมบท 10” ค่ะ ตอนนี้เราก็ได้ตัวตัดสินชี้วัดอย่างละเอียดชัดเจนแล้วว่าอะไรคือ การทำความชั่ว และ อะไรคือ การทำความดี เรามาต่อหัวข้อที่ 3 เกี่ยวกับการทำจิตใจให้ผ่องใสกันค่ะ

 

หัวข้อที่ 3 การชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ ผ่องใส

ไม่มีวิธีการใดในโลกใบนี้ที่จะสามารถชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใสได้อย่างแท้จริง นอกจาก การ ”ฝึกสมาธิ” โดยสมาธิที่ฝึกต้องเป็น “สัมมาสมาธิ” ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านได้พิสูจน์ด้วยตัวของพระองค์เองแล้วว่าสมาธิสามารถขจัด ขัดเกลาจิตใจของเราให้บริสุทธิ์ ผ่องใส ขนาดที่สามารถขจัดกิเลสออกไปจากใจได้หมดสิ้น บรรลุธรรมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ต้องกลับมาเกิดอีกต่อไป อีกทั้งพระองค์ยังสามารถสอนผู้อื่นให้เข้าถึงธรรมตามท่านไปได้ด้วย ซึ่งเป็นการพิสูจน์แล้วว่า วิธีการฝึกสมาธิในพระพุทธศาสนาเป็น แนวทางที่ถูกต้องสามารถทำใจของเราให้บริสุทธิ์ได้จริง

 

ในเบื้องต้นเมื่อฝึกสมาธิแล้ว สมาธิจะช่วยกล่อมเกลาจิตใจของเราให้นุ่มนวล อ่อนโยน เหมาะแก่การฝึกฝนอบรมตนให้ละชั่ว (ละอกุศลกรรมบท 10) ได้ง่ายขึ้น และยังส่งผลให้เกิดกำลังใจที่จะทำความดี (กุศลกรรมบท 10) ให้ยิ่งๆขึ้ไปได้ในที่สุด เราจึงกล่าวได้ว่าสมาธินั้น เป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความสุข และความสำเร็จของมนุษย์ หากเราได้ฝึกสมาธิอย่างสม่ำเสมอให้ใจของเราพร้อมที่จะมองเห็นสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง ไม่คิดอคติ มีความเห็นถูก มีจิตมั่นคง เราก็จะสามารถฝึกฝนตนเองในเรื่องอื่นๆ ที่ยิ่งขึ้นไปได้อย่างง่ายดายค่ะ

 

หลังจากที่เราได้หลักเกณฑ์ในการตัดสินว่าอะไรคือ การทำดี อะไรคือการทำชั่ว ในข้างต้นแล้ว แล้วคราวนี้เรามาลองพิจารณาเหตุการณ์ตัวอย่างที่เราค้างเอาไว้กันค่ะ

  • สมมติว่าเราเห็นสัตว์กำลังได้รับความทุกข์ทรมาน แล้วมีคนแนะนำว่าให้ฆ่ามันซะเพื่อที่มันจะได้ไม่ทรมาน คุณจะตัดสินใจอย่างไร?  

คำตอบ : ถ้าเราคิดจะช่วยด้วยการฆ่ามัน นั่นคือเรากำลังทำชั่วนะคะ แม้ว่ามันจะกำลังทรมานมากๆ แต่เราได้เคยถามมันหรือไม่ว่ามันอยากให้เราฆ่ามันรึเปล่า...สัตว์ทุกตัวล้วนรักตัวกลัวตายทั้งนั้น สิ่งที่เราควรทำคือ หาทางช่วยรักษามันเท่าที่เราทำได้จะดีกว่า หรือ พามันไปหาหมอ แต่ถ้าถึงที่สุดแล้วมันจะต้องตายเพราะรักษาไม่ไหวจริงๆ เราก็จะได้ภูมิใจว่าอย่างน้อยเราก็ได้ช่วยมันอย่างเต็มที่แล้ว

  • ถ้าคุณเห็นคนหนึ่งที่ร่ำรวยมาจากการทุจริต และมีคนจนอีกมากที่ต้องการเงินมาช่วยชีวิต แล้วคุณสามารถทำอย่างโรบินฮูดได้ คุณจะโขมยทรัพย์ของคนรวยเหล่านั้นมาให้คนจนรึเปล่า?

คำตอบ: ถ้าเราเราอย่างโรบินฮูดที่ไปปล้นเอาทรัพย์ผู้อื่นมาช่วยคนยากจน ซึ่งดูเพียงผิวเผินแล้วอาจจะดูว่ามันเป็นสิ่งที่ดี แต่การปล้นเอาทรัพย์ผู้อื่นมาไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องค่ะ แม้ว่าทรัพย์นั้นจะเป็นทรัพย์ที่ทุจริต แต่มันก็ไม่ใช่ของเราอยู่ดี ที่สำคัญทรัพย์ที่ทุจริตเหล่านี้มักจะมีวิบัติ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อผู้ที่ได้ครอบครอง ยิ่งถ้าทรัพย์นั้นเจ้าของเขาได้มาด้วยความสุจริต ยิ่งไม่ควรจะไปปล้นเอามาเพราะใครก็ล้วนหวงแหนทรัพย์ของตน และมีความจำเป็นต้องใช้ทรัพย์นั้นทั้งสิ้น ดังนั้นทางที่ดีหากเราอยากช่วยคนยากจนด้วยเงินของคนร่ำรวย เราควรที่จะได้ทรัพย์นั้นมาด้วยความสุจริต ยินยอมของเจ้าของทรัพย์ โดยอาจจะตั้งโครงการขอบริจาค หรือ ขอการสนับสนุนจากคนรวยเหล่านั้นอย่างถูกต้อง การทำเช่นนี้ ผู้ที่บริจาคทรัพย์ก็จะได้เต็มใจในการสละทรัพย์ของตน ได้บุญกันไปทั้งผู้จัดโครงการ ผู้ร่วมบุญ ผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือ ก็รับอย่างสบายใจ

  • ถ้ามีชายคนหนึ่งรักกับหญิงที่แต่งงานแล้วด้วยความบริสุทธิ์ใจ โดยที่สามีของหญิงคนนี้ได้ทารุณทุบตีหญิงที่เขารักอยู่ทุกวัน คุณคิดว่าการที่ชายผู้นี้ลักลอบได้เสียกับหญิงที่ตนรักด้วยความจริงใจ แล้วพาหนีออกมาจากสภาพที่เลวร้ายเป็นสิ่งที่ควรทำหรือไม่?

คำตอบ :  ดูเบื้องต้นแล้วเป็นเรื่องที่น่าสรรเสริญที่ชายผู้นี้ได้พาหญิงสาวที่ตนรักหนีออกมาจากสภาพที่ถูกทารุณ แต่ในความเป็นจริงแล้วการที่หญิงสาว กับสามีได้แต่งงานกัน อยู่ร่วมกันอย่างถูกต้อง นั้นถือว่าเป็นการยินยอมของทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่ก็ตามที ในกรณีที่ภายหลังหญิงสาวที่ถูกทารุณจากสามี และชายผู้นี้เกิดความรักต่อกัน แล้วพากันหนีไปอย่างนี้ ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง เพราะผิดทำนองคลองธรรม หญิงสาวก็จะได้รับการตราหน้า ถูกครหานินทาว่าหนีตามผู้ชายไป และสามีของเธอก็อาจจะตามจองล้างจองผลาญคนทั้งคู่ ทำให้ต้องอยู่อย่างหลบซ่อน ไม่มีความสุขในชีวิต ดังนั้นสิ่งที่ควรทำ คือ การช่วยเหลือหญิงสาวผู้นี้ให้พ้นจากสามีที่ทารุณอย่างเปิดเผย อาจด้วยกฎหมาย ให้สามีของเธอยอมรรับโดยดี ช่วยด้วยความจริงใจ และไม่ล่วงเกินให้เสียหาย ต่อเมื่อหญิงสาวได้หย่าขาดจากสามีแล้ว จึงขอเธอแต่งงานอย่างถูกต้องจะทำให้หญิงสาวยังคงมีศักดิ์ศรี ไม่ถูกครหานินทา และใช้ชีวิตอย่างเปิดเผยได้

  • ถ้าคุณทราบว่าญาติของคุณเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายต้องเสียชีวิตใน 3 เดือน จากคุณหมอที่คุณสนิท คุณละเลือกอะไรระหว่างบอกความจริงกับญาติของคุณ หรือ เลือกที่จะปิดบังเพื่อให้เขาสบายใจ?

คำตอบ: คนบางคนมักเลือกที่จะปิดบัง เพื่อความสบายใจของผู้ป่วย ด้วยเกรงว่าบอกความจริงไปแล้วจะหมดกำลังใจ อาจจะมีอาการทรุดหนักไปอีก แต่ในความเป็นจริงแล้วการปิดบังไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง  สิ่งที่ควรทำคือ หาวิธีการบอกความจริงอย่างระมัดระวัง เพราะ หากเรารู้ว่าเราจะมีชีวิตได้อีกไม่นาน เราจะได้เตรียมตัว เตรียมใจอย่างถูกต้อง และจะได้ร่ำลา หรือ กล่าวอโหสิกรรมต่อคนที่เราได้ล่วงเกินไว้ เพื่อจะได้จากไปอย่างสงบ หมดเรื่องที่ค้างคาใจ โดยวิธีการที่ดีที่สุดคือ อธิบายให้เขาเข้าใจความเป็นจริงของชีวิต ว่าทุกคนเกิดมาล้วนต้องตายทั้งสิ้น สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ ความดีที่จะติดตามตัวเราไป เมื่อเวลาเหลือน้อยให้เร่งสั่งสมความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อที่ว่าเราจะได้ไปสู่ภพภูมิที่ดี ซึ่งชีวิตหลังความตายนั้นยาวนานมากกว่าในโลกมนุษย์หลายล้านเท่า หากเรามีบุญน้อยเราจะมีทุกข์ยาวนาน หากเรามีบุญมากก็จะสุขยาวนาน ดังนั้นให้เร่งสั่งสมบุญจะได้ไม่เสียดายที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ซึ่งได้มีโอกาสทำความดีได้มากกว่าสัตว์อื่นๆ ในโลก เป็นต้น

  • สุดท้ายถ้าคนที่คุณเคารพรักขอ หรือ สั่งให้คุณซื้อบุหรี่ หรือ เหล้าให้เขาหน่อยเพราะเมื่อเขาได้สูบ หรือ ดื่มแล้วเขามีความสุข คุณจะช่วยเขาหรือไม่?

คำตอบ: เหตุการณ์เหล่านี้อาจเกิดขึ้นกับใครหลายคน ที่พ่อ แม่ หรือ ปู่ ย่า ตา ยาย ซึ่งเราเคารพและเกรงใจ ให้ช่วยไปซื้อ เหล่า เบียร์ หรือ บุหรี่ มาให้ดื่ม หรือ สูบ หากเราทำตาม ดูผิวเผิน เหมือนว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะเราไม่ขัดคำสั่งผู้ใหญ่ เราได้ช่วยเหลือผู้ใหญ่ แต่หากมองกันจริงๆ แล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นยาพิษ แม่ว่าพวกเขาจะยินดีที่จะเสพเข้าไปเอง แต่การทีเรายอมที่จะไปซื้อมาให้ ก็เหมือนเรามีส่วนในการ “ฆ่า” คนที่เรารักแบบผ่อนส่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดอย่างมหันต์ โดยเฉพาะ ถ้าบุคคลนั้นเป็นพ่อ แม่ เรา ยิ่งบาปมากขึ้นไปอีก ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือ ไม่ยอมไปซื้อให้ แล้วให้เหตุผลว่าที่ไม่ยอมทำตามเพราะว่า “เรารัก และเป็นห่วง” ท่านมากมายขนาดไหน ให้เขาเข้าใจเหตุผลของเรา แม้ว่าเขาจะโกรธ จะด่าว่า ก็ต้องใจแข็ง ในที่สุดถ้าเขาจะไปซื้อด้วยตัวเอง หากห้ามไม่ได้ ก็อาจต้องปล่อยวาง แต่อย่างน้อยที่สุด เราก็ไม่ได้มีส่วนในการทำร้ายเขา ทำให้เขาต้องลำบากในการเสพสิ่งเหล่านี้ อาจทำให้เขาเสพได้ไม่เต็มที่ หรือ ได้น้อยลง ถือเป็นการช่วยเขาในทางอ้อม แต่ในท้ายที่สุดต้องพยายามให้เขาเลิกสิ่งเหล่านี้ให้ได้

 

และนี่ก็คือ ตัวอย่างให้เราเห็นถึงความหลากหลายของสถานการณ์ที่เราต้องพบเจอในชีวิตประจำวัน ซึ่งดูผ่านๆ ก็เหมือนจะง่ายในการละชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใส แต่หากเราไม่เข้าใจอย่างแท้จริงว่าอะไรคือ ความดี ความชั่ว เราอาจจะตัดสินใจผิดได้ แม้เราจะมีเจตนาที่ดี ดังนั้น หัวใจของพระพุทธศาสนาจึงมีความสำคัญ ของการดำรงชีวิตให้ถูกต้องตามหลักศีลธรรม สุดท้ายนี้ของให้ทุกท่านยึดมั่นในหัวใจของพระพุทธศาสนา คือ ละชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใส่ เอาไว้นะคะ เราจะได้ช่วยกันลดกระแสแห่งความไม่ดี และแผ่กระแสแห่งความดีงามออกไปสู่สังคมเราให้ได้มากที่สุดค่ะ




ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์ : 
http://www.oknation.net/blog/sangjan/category/Dhumma Tag : dhamma dharma พระพุทธศาสนา ธรรมะ พระไตรปิฎก หัวใจพระพุทธศาสนา

Comments to this story

Write a comment


1.  views readmore
ALL Most Viewed
ALL TOP Rated
1.  comments readmore
ALL Most Comment