อัจฉริยะสร้างสุข
วันนี้เราจะ review ซีรีย์หนังสือ “อัจฉริยะ” ของคุณวนิษา เรช ปริญญาโทด้านสมอง จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งเล่มนี้คุณหนูดีได้ให้เคล็ดลับดีดีในการใช้ชีวิตให้ฉลาด และมีความสุข พิมพ์โดย บริษัท อัจฉริยะสร้างได้ จำกัด
คุณหนูดีให้หนังสือเล่มนี้เป็นคู่มือดูแลสมอง...ให้ฉลาดและมีความสุข โดยใช้คำว่า “วิทยาศาสตร์ความสุข (The Science of Happiness) ” ซึ่งเป็นวิชาเรียนของเธอในสมัยที่เรียนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นการผสมผสานองค์ความรู้ที่คุณหนูดีได้ร่ำเรียนมาในเชิงวิชาการ แล้วมาปรับใช้กับชีวิต เมื่ออ่านในเล่มแล้วจะเห็นว่า มีเรื่องของวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้แก่ แพทย์ศาสตร์ จิตวิทยา และพุทธศาสนาด้วย....แต่จะว่าไปพุทธศาสนาก็คือ วิทยาศาสตร์นั่นเอง ดังนั้นความสุขจึงเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ วัดได้ มีนักวิจัยแนวใหม่ที่สนใจค้นคว้าเรื่องอารมณ์สุขกันมากขึ้น ในกระแสที่เรียกว่า “จิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology)”
คุณหนูดีบอกว่าในอดีตคนเราคิดว่า เรื่องของความคิดอยู่ที่สมอง ความรู้สึกอยู่ที่หัวใจ แต่ความจริง เรื่องของหัวใจหรือความสุขอยู่ที่สมองค่ะ เพราะสมองเป็นแหล่งกำเนิดความสุข ความทุกข์ และสมองควบคุมอารมณ์ความรู้สึกทุกชนิด เรื่องนี้โดยส่วนตัวเห็นด้วยค่ะว่า หัวใจนั้นทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไม่เกี่ยวกับความรู้สึก แต่อยากเพิ่มเติมอีกสักนิดสำหรับชาวพุทธ เนื่องจากชาวตะวันตกไม่ได้นับถือศาสนาพุทธจึงไม่มีความรู้เรื่องของ “จิต” อย่างที่ชาวพุทธได้เรียนรู้จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว สิ่งที่ควบคุมทุกสิ่งคือ “ดวงจิต” หรือ ดวงวิญญาณ ที่อาศัยร่างกายหยาบนี้เป็นรังอาศัย เมื่อจิตสั่ง ระบบร่างกายทั้งหมดจึงดำเนินการตาม หากเปรียบกับเครื่องคอมพิวเตอร์ จิต ก็คือมนุษย์ที่สั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงาน และสมองเหมือน CPU ซึ่งควบคุมทุกอย่าง แต่มันก็ไม่สามารถทำงานได้ถ้าเราไม่ป้อนคำสั่งเข้าไปนั่นเอง
จิตวิทยาเชิงบวกนี้ เป็นการพูดถึงสภาพจิตของคนที่เป็นบวกที่สุด แข็งแรงที่สุด งดงามที่สุดวิชานี้สอนโดย ดร.ทาล เบน ชาฮาร์ ผู้บุกเบิกสอนจิตวิทยาเชิงบวกคนแรกๆ การฝึกมองแง่บวกสามารถลดภาวะต่างๆ ในเชิงลบได้ และยังเป็นการสร้างสิ่งที่ถูกต้องดีงามด้วย คุณหนูดีว่าเมื่อเข้าไปในห้องเรียนนี้ครั้งแรก ก็ตกตะลึงเพราะมีคนเรียนเป็นพัน เห็นได้ชัดว่ามนุษย์อยากมีความสุขทุกคน และจากผลวิจัยพบว่า มีคนมากมายที่เป็นโรคซึมเศร้า เครียด กังวล มากมายจริงๆ เรามาดูกันว่าหลักการเขาเป็นอย่างไร
หลักการ “ยอดอ่อนผลิใบ” หรือ “Growing Tips Statistics” เป็นวิธีการเลือกศึกษาส่วนยอดของสังคม ซึ่งคนที่มีความสุขเป็นพิเศษในสังคมเราเป็นอย่างไร ก็เป็นสิ่งที่ไม่ยากที่คนธรรมดาจะลอกเลียนแบบ และเราควรเลือกที่จะคิดบวกๆ ให้มากเข้าไว้ เมื่อเราทำอะไรผิดพลาดขึ้นมาอย่างน้อยที่สุด เราก็เหลือ “บวกหนึ่ง” ไม่ติดลบนั่นเอง
มีงานวิจัยที่ไปศึกษาผู้ที่มีความสุขยิ้มง่ายว่าชีวิตเขาเป็นอย่างไร ปรากฎว่าพวกเขาก็มีความพลัดพราก สูญเสีย เช่นกัน แต่ปัจจัยที่ทำให้เขามีความพิเศษคือ “วิธีตีความปัญหา” และ ช่วงเวลา “พลิกฟื้นเยียวยา” ที่รวดเร็ว ดังนั้นปัจจัยสำคัญคือ วิธีการมองโลกของคนเหล่านั้นที่เป็นบวก
สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ คนเรามักจะทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก แต่คนที่มีความสุขจะทำให้เรื่องยากเป็นเรื่องง่าย ดังนั้นหลักการที่คุณหนูดีแนะมาคือ หลัก”ไม่มากและไม่ยาก” ในด้านของสมองคุณหนูดีให้เราลองเดาว่าภารกิจสำคัญที่สุดของสมองคืออะไร บ้างก็ตอบว่า การคิด บ้างก็ว่า การจำ หรือการสร้างสรรค์งาน แต่ในความจริงแล้วไม่ใช่ค่ะ....ภารกิจหลักของสมองคือ “การเอาชีวิตรอด” ซึ่งเกี่ยวกับอารมณ์รุนแรงหลายชนิด ที่เลี่ยงไม่ได้คือ อารมณ์กลัว และอารมณ์โกรธ สิ่งเหล่านี้ทำให้ชีวิตเราอยู่ในวังวนของความเป็นลบ ถ้าเราเข้าใจและอยู่เหนืออารมณ์เหล่านี้เราจะมีความสุขได้
ที่เราต้องยอมรับความจริงข้อหนึ่งคือ ธรรมชาติของคนเราจะคิดในทางลบเป็นปกติ อย่างที่คุณหนูดีกล่าวว่า “ความทุกข์ เป็นอาหารจานโปรดของสมอง” เราจึงต้องฝึกคิดในเชิงบวกเพื่อต้านความคิดลบโดยธรรมชาติ ในเรื่องนี้โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่าหลักการดังกล่าว ถูกต้องตรงกับคำสอนในพระพุทธศาสนาจริงๆ ค่ะ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้กล่าวไว้ว่า ดวงจิตที่แท้จริงของมนุษย์ เป็นประภัสสรผ่องใสมากๆ แต่ถูกกิเลสครอบงำจิตใจทำให้ คิด พูด ทำ ในสิ่งที่ไม่ดีเป็นปกติ การที่จะกลับมามีจิตใจที่ผ่องใสได้อีกครั้งคือ ต้องขจัดกิเลสออกให้มากที่สุด และมีสติประคองรักษาใจของเราให้ใสได้ตลอด การมองโลกในแง่บวกเป็นสำคัญ พระองค์จึงสอนให้เรามองชีวิตด้วยความเข้าใจในความเป็นจริงของกฎไตรลักษณ์ คือ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ และความไม่ใช่ตัวตน และยอมรับในสิ่งเหล่านี้ให้ได้ เมื่อทำได้เราจะปล่อยวาง และมีความสุข นี่คือการคิดบวกในพระพุทธศาสนา
คุณหนูดีอธิบายต่อว่า แต่ยังไงความทุกข์ก็เป็นสิ่งที่จำเป็น สมองเราจะจดจำความทุกข์ได้ดี ไม่ว่าจะเป็น ความเสียใจ แค้นใจ เศร้า ทั้งนี้ก็เพื่อให้เราจดจำและไม่ทำผิดซ้ำอีก จนเป็นอันตรายถึงชีวิตในที่สุด และเมื่อคนเราเจอเรื่องที่เป็นทุกข์ สมองจะจัดการ “ตัดระบบจ่ายพลังงานสำรอง” ทำให้เราเกิดอาการ เนือยๆ ไม่อยากทำอะไร เพื่อบ่งบอกให้เรารู้ว่า ความรู้สึกแบบนี้เป็นลบ เป็นทุกข์ ให้เลิกความคิดเช่นนี้ซะ แล้วไปหาอะไรที่ดีกว่า สำหรับคนไหนที่มีความทุกข์คอยตามหลอกหลอนอยู่ตลอดเวลานั้น ให้รีบหาอะไรทำ ที่ต้องมีการใช้ความคิด ขยับร่างกาย อ่านหนังสือ เพื่อให้สมองได้เปลี่ยนโหมดมาทำงานที่สร้างสรรค์ แล้วสักพักสมองจะตัดขาดจากวงจรความทุกข์เอง เข้าสู่โลกแห่งความสุขอีกครั้ง
คุณหนูดีอธิบายเรื่องอวัยวะหนึ่งในสมองที่ทำหน้าที่เหมือนระบบรักษาความปลอดภัย คือ “อมิกดาลา” ซึ่งมาจากรากศัพท์ว่า “เมล็ดอัลมอลด์” เพราะอวัยวะนี้มีลักษณะคล้ายอัลมอลด์ อวัยวะนี้มหัศจรรย์เพราะจะทำหน้าที่สั่งงานให้เรามีชีวิตอยู่รอดในยามคับขัน แต่ในเวลาปกติเจ้าอวัยวะตัวนี้จะไม่ทำอะไรเลย นอกจากนี้สมองยังมีระบบซิมพาเทติก (Sympahtetic System) ทำหน้าที่เพิ่มพลังงานด้วยการเพิ่มอัตราเต้นของหัวใจ ขยายรูม้านตา ชะงักระบบร่างกาย ฯลฯ ส่วนระบบพาราซิมพาเทติก (Parasympathetic System) ซึ่งทำงานร่วมกันในภาซะฉุกเฉิน ก็จะตัดพลังงานของเราด้วยการลดอัตราการเต้นของหัวใจ หดม่านตา ลดเหงื่อ เป็นต้น ให้เราหลบนิ่งๆ หากมีภัย ระบบตัด และจ่ายพลังงานนี้ทำให้เรารอดชีวิตในยามคับขัน โดยสมองส่วนคิดสั่งการไม่ทันเลย แต่เจ้าระบบนี้เองก็ทำให้คนเราตอบโต้สิ่งที่มากระทำเราอย่างรุนแรง ด้วยความรุนแรงกลับไป โดยที่ไม่ได้ตั้งใจ ดังนั้นเราจึงต้องฝึกสติให้ดีดี ทำให้ตัวเราไม่ตื่นเต้น หวาดกลัวอะไรง่ายๆ สงบ และ ผ่อนคลาย
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ เมื่อเรามีความทุกข์ ความฉลาดจะน้อยลง เมื่อมีความสุข ความฉลาดจะมากขึ้น เพราะอวัยวะสำคัญคือ ฮิปโปแคมปัส ซึ่งหากมีความทุกข์ฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความเครียด เช่น คอร์ติซอล จะหลั่งไปทำลายเซลล์ และเส้นใยสมอง และสมองส่วนนี้เองที่ทำหน้าที่เหมือน “เครื่องบันทึกความจำ” ทำให้เราลืมง่าย จำอะไรไม่ค่อยได้ ถ้าอยากเรียนเก่ง จำแม่น ต้องเห็นโทษของความทุกข์ ความเจ้าคิดเจ้าแค้น และความคิดทางลบอื่นๆ การที่เรารู้จักให้อภัยคนเปรียบเสมือนเราได้บำรุงเซลล์ และเส้นใยสมองของเรา ดังนั้นถ้าเรารักตัวเองก็ต้องเลิกคิดลบกันเถอะค่ะ และยังทำให้สังคมเราเป็นสังคมที่มีความสุขด้วย ตรงกันข้ามถ้าเรามีความสุขเครื่องสแกนสมองจะบอกได้เลยว่าสมองจะได้รับการบำรุงด้วยสารเคมีดีดีที่หลั่งออกมา ทำให้เราผิวพรรณดี อารมณ์แจ่มใส โครงสร้างเส้นใยสมองก็ได้รับการวางใหม่เรื่อยๆ ทำให้เราฉลาดขึ้น การวิจัยต่างๆ ยืนยันว่าเมื่อมีความสุข สมองจะชุ่มฉ่ำไปด้วยสารดีดีที่มาหล่อเลี้ยง เราพูดได้ว่า “คนมีความสุข คือ คนฉลาด”
ส่วนตัวแล้วชอบประเด็นข้างต้นนี้มากๆ เพราะมันเป็นการที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์สิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสเอาไว้ว่า "สมาธิ ทำให้เกิดปัญญา" หรือ “สุขใดยิ่งกว่าใจหยุดใจนิ่งไม่มี” แสดงให้เห็นว่า เมื่อเราฝึกสมาธิจนในนิ่งสงบ จะเกิดความสุข และเมื่อมีความสุขสมองของเรา (เป็นส่วนทางกายภาพ) ก็ได้รับการบำรุงทำให้มีประสิทธิภาพ เรียนรู้เร็ว จำแม่น ท้ายที่สุดจึงเป็นคนมีปัญญา และฉลาด นี่เองเป็นการยืนยันว่า เมื่อกาลเวลาผ่านไปวิทยาศาสตร์ จะเป็นสิ่งยืนยันความจริงในพระพุทธศาสนา
คุณหนูดีอธิบายต่อว่า แต่ความเครียดในระยะสั้น จะให้ผลตรงข้าม คือ ทำให้สมองทำงานได้ดี เช่น ความเครียดอ่อนๆ ช่วงใกล้สอบ ทำให้เราอ่านหนังสือดีขึ้น จำแม่นขึ้น เพราะสารเคมีที่หลั่งออกมากรณีนี้คือ “อะดรีนาลิน” ช่วยกระตุ้นให้เราทำงานได้สำเร็จเร็วขึ้น อันนี้ก็เห็นด้วยสุดๆ สังเกตว่า เวลาจำอะไรหน้าห้องสอบนี่จะจำแม่นมากๆ ดังนั้นเราควรจะ “เรียนด้วยความสุข” ฝึกอารมณ์ดีกันบ่อยๆ จะได้ไม่เผลอไปมีอารมณ์ในทางลบนะคะ
นอกจากนี้อารมณ์นี้ยังทำให้มีอายุยืนอีกด้วยมีงานวิจัยยืนยันแม่ชีกลุ่มที่มีความคิดบวกมีอายุยืนถึง 94 ปี ได้ร้อยละ 54 แต่แม่ชีที่คิดลบ มีชีวิตอยู่เหลือเพียง 11 ปี ดังนั้นคุณหนูดีจึงเตือนตัวเองว่า ถ้ามีความคิดลบ มองคนอื่นไม่ดี เท่ากับเป็นการฆ่าตัวตายผ่อนส่ง คิดแบบนี้ก็ดีเหมือนกันค่ะ ดังนั้นอยากอายุยืนสุขภาพแข็งแรงก็คิดบวกกันนะคะ แต่สำหรับบางคนมีความเห็นว่า มองโลกในแง่ดีเกินไปทำให้อาจจะประเมินสถานการณ์ต่างๆ ผิดไป อาจถูกหลอกเพราะไม่ระวัง ดังนั้นทางออกก็คือ การมองโลกตามความเป็นจริง...ไม่อยากจะบอกว่า ประเด็นนี้ก็ตรงกับคำสอนในพระพุทธศาสนาอีกแล้ว
สมองเรานั้นฝึกให้คิดบวกได้ค่ะ คุณหนูดีให้ขั้นตอนไว้ 9 ประการ 1) ให้ยอกรับว่าควาทุกข์ และความเครียดมีผลร้ายต่อสมองจริง 2) รู้จักพูดคำว่า “ไม่” เพื่อปฏิเสธสิ่งที่เราไม่ชอบ และไม่มีเวลา 3) นอนให้เพียงพอ คือ นอนอย่างน้อย 6 ชั่วโมง ถ้าต่ำกว่านั้น สารอินซูลินจะหลั่ง ทำให้เป็นโรคอ้วน และเบาหวานได้ง่าย โดยเน้นให้เราสร้างสภาวจิตใจของเราให้สงบก่อนนอน เช่น การฟังเพลงบรรเลงเบาๆ หรือ นั่งสมาธิ สวดมนต์ 4) ออกกำลังกายสม่ำเสมอ 5) สวดมนต์ และนั่งสมาธิประจำ มีงานวิจัยรองรับว่าการนั่งสมาธิทำให้ผู้ป่วยหายป่วยได้มากกว่าผู้ที่ไม่ได้นั่งสมาธิ สมาธิช่วยลดภาวะกังวล ผ่อนคลาย หลับดีขึ้น มีการสแกนสมองผู้ที่นั่งสมาธิจึงเห็นว่า กิจกรรมทางสมองลดลงกว่าปกติ และสมองส่วนหน้า พรีฟรอนทัลคอร์เท็กซ์ ที่เกี่ยวกับการวิเคราะห์ทำงานเต็มที่กว่าปกติ อย่างนี้เองสมาธิจึงทำให้คนฉลาด 6) เลี่ยงสารเคมีที่ทำร้ายสมอง คือ คาเฟอีน นิโคติน หรือสารเสพติด 7) ควรหาสารอาหารดีดีมาบำรุงสมอง เช่นพวก กลุ่มวิตามินบี หรือ น้ำมันปลา 8) ให้ตารางเวลากับการหัวเราะทุกวัน หัวเราะให้ได้ทุกวันเกิดผลดีต่อชีวิตได้จริง
คุณหนูดีให้เทคนิคสำหรับคนที่มันจะจำแต่สิ่งที่ดีไว้ว่า ให้หาเรื่องดีๆ มาให้สมองเกาะเยอะๆ สมองจะได้มีพื้นที่สำหรับเรื่องเศร้าน้อยลงไปเองค่ะ แล้วก็แนะนำให้เล่มเกมส์ “เริ่มต้นที่ตอนจบ” คือ ให้หลับตาแล้วนั่งนิ่งๆ ถามตัวเองว่า “ชีวิตนี้ไม่ได้ทำอะไรแล้วจะเสียดายที่สุด และถ้าไม่ได้ใช้เวลากับใครแล้วจะเสียดายที่สุด” เมื่อเราตอบตัวเองได้ เราจะปรับวิถีชีวิตเพื่อที่ว่า ในปั้นปลายชีวิตเราจะได้มีความสุข เพราะตลอดชีวิตเราได้ถูกเติมเต็มแล้ว
คนเรามักมีทุกข์เพราะชีวิตล้มเหลว คุณหนูดีให้ข้อคิดว่า อัจฉริยบุคคลแทบทุกคนเคยล้มเหลวในชีวิต แต่ความล้มเหลวอาจไม่ใช่สิ่งตรงข้ามกับความสำเร็จและเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จ เป็นส่วนผสมของกันและกันมากกว่า เพราะมีความล้มเหลวจึงได้สั่งสมความรู้และสำเร็จได้ในที่สุดนั่นเอง คุณหนูดีได้เล่าเรื่องของ เจ. เค. โรว์ลิง ซึ่งเป็นผู้แต่งนวนิยายชื่อก้องโลก “Harry Potter” ได้พูดไว้ว่า
“มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีชีวิตอยู่โดยไม่เคยทำอะไรผิดพลาดเลยแม้แต่เรื่องเดียว ยกเว้นว่าคุณจะใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวังถึงขีดสุด ซึ่งนั่นก็แทบไม่ต่างการจากไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ และนั่นถือว่าคุณได้ล้มเหลว ไปโดยปริยาย”
ดังนั้นการจะมีความสุขได้ เราต้องรักและเข้าใจ ทำตัวเองให้มีความสุขให้ได้ก่อน แล้วจึงจะสามารถเผื่อแผ่ความรักไปยังคนอื่นได้
เคล็ดลับที่คุณหนูดีมักจะย้ำเสมอเรื่องสุขภาพ และความสุขคือ “การนอน” นอนเพียงพอจะทำให้สุขภาพดี สมองปลอดโปร่ง และมีความสุข พบมีงานวิจัยพบว่า การนอนกลางวันมีประโยชน์มาก ช่วยให้หน้าอ่อนวัน อัตราการผลัดผิวเป็นไปอย่างดี และสำหรับเรื่องความรัก จะรักให้มีความสุขต้องใช้ทั้งหัวใจ และสมองควบคู่กัน เพื่อให้เราไม่พลาดหากจะตัดสินใจเลือกใครสักคน หัวใจหลักคือ การมีความสนใจ และเป้าหมายชีวิตร่วมกัน คนที่เป็นคู่รักยืนยาวนั้นจะเป็นเพื่อนแท้ของกันและกันด้วย เพราะความรู้สึกตื่นเต้นคงมีเพียงแค่เริ่มต้นเท่านั้น แต่สิ่งที่จะยืนยาวคือ มิตรภาพนั่นเอง
สุดท้ายคุณหนูดีแนะให้เรามองเห็นสิ่งธรรมดารอบตัวเราให้เป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ เพราะเราเห็นทุกสิ่งรอบตัวเป็นเรื่องปกติ แต่วันหนึ่ง ถ้าสิ่งปกติที่มีไม่ปกติอีกต่อไป เช่น ร่างกายไม่สมบูรณ์ หรือ ถ้าวันหนึ่งคนรอบตัวเราได้จากโลกนี้ไป สิ่งที่ปกตินี้จะเป็นสิ่งที่มีค่ามาก ดังนั้นให้เราตระหนักรู้ว่าทุกสิ่งรอบตัวที่เรามีคือ สิ่งมหัศจรรย์ แล้วเราจะให้ชีวิตกับผู้คนรอบตัวอย่างมีความสุขทุกวัน แต่ถ้าเราทำอะไรผิดพลาดบ่อยๆ คนรู้สึกหงุดหงิดตัวเอง ก็ให้เราเลิกโทษตัวเองไดแล้ว และหันมาคิดในเชิงบวก เพื่อไม่ให้ผิดซ้ำอีก หรือ หากว่าเรามีความคาดหวัง ตั้งเป้าอะไรไว้ใหญ่โต คือ มีกล่องความสุขที่ใหญ่ ต้องรอเติมทุกอย่างให้เต็มจึงจะสุขได้ ก็ให้ “ลดขนาดกล่อง” ลงซะจะง่ายกว่า ทำให้เรามีความสุขได้ง่ายๆ ทุกวัน และเต็มเปี่ยมตลอดเวลา สุดท้ายคุณหนูดีทิ้งท้ายไว้ว่า
“ เคล็ดลับความสุขง่ายๆ นั้นไม่มาก...ไม่ยาก แค่รู้ในสิ่งที่ต้องการ รับในสิ่งที่ใช่ ไขว่คว้าในสิ่งที่คิดแล้วว่าเหมาะสม และปฏิเสธในสิ่งที่ไม่ใช่ หรือ เกินจำเป็น ฟังดูเหมือนง่าย เหมือนธรรมดา ไม่มาก และไม่ยาก แต่สิ่งธรรมดา คือ สิ่งที่พิเศษที่สุดแล้วไม่ใช่หรือคะ”
ส่วนตัวแล้วคิดว่าเราชาวพุทธโชคดีนักหนาคือ คำสอนในพระพุทธศาสนาล้วนสอนให้มนุษย์มีความสุขทุกเวลา ด้วยการมีสติ ปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่น เข้าใจกฎแห่งกรรม ดังนั้นเราจึงไม่ต้องไปนั่งเข้าเรียน “วิชาความสุข” เหมือนนักศึกษาต่างประเทศ เพราะเขาไม่รู้จริงๆ ว่าจะทำอย่างไรให้มีความสุข เรามาเริ่มลงมือสร้างความสุขให้ตัวเองนับแต่วินาทีนี้เลยนะคะ...ขอให้ผู้อ่านทุกคนมีแต่รอยยิ้มที่เปี่ยมสุขค่ะ
ปล. ยังมีรายละเอียดที่น่าสนใจ และเป็นประโยชน์อีกมากลองหาอ่านกันนะคะ
Tag :
อัจฉริยะ
สุข
Comments to this story