Follow Us

Story We Share

STORY BY Sasha (Master)

อัจฉริยะสร้างได้

Print August 23, 20135,262 views , 0 comments

อัจฉริยะสร้างได้

 

สำหรับหนังสือที่จะมา review กันในวันนี้เป็นหนังสือที่ได้รับความสนใจจากผู้อ่านมากมายเล่มหนึ่ง และมีภาคต่อเป็น    ซีรีย์ “อัจฉริยะ” ซึ่งจะนำเสนอในครั้งต่อไป หนังสือเล่มนี้เขียนโดย คุณ วนิษา เรซ ปริญญาโทด้านสมองจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด บริษัท อัจฉริยะสร้างได้ จำกัด เป็นผู้พิมพ์

 

สำหรับคุณวานิษา เรช หรือคุณหนูดี เมื่อประมาณ 6 ปีก่อน เธอเป็นผู้สร้างกระแสคำว่า “อัจฉริยะ” ในประเทศไทยเลยทีเดียว เพราะโดยปกติแล้วเรามักจะรู้สึกว่า อัจฉริยะนั้นเป็นเรื่องไกลตัวม๊ากๆ และต้องมีความสามารถเหนือมนุษย์ทั่วไป (เอ...อัจฉริยะนะ ไม่ใช่ super hero) แต่เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้แล้วทำให้เข้าใจได้ใหม่ว่า “อัจฉริยะ” นั้นเกิดขึ้นได้กับทุกคน

 

หนังสือเล่มนี้ในตอนแรกผู้เขียนได้เปิดภาพให้ได้สัมผัสกับบุคคลที่ได้รับการขนานนามว่า “อัจฉริยะ” ซึ่งเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด หรือไม่ก็เป็นอาจารย์ซึ่งสอนที่นั่น เมื่อได้รู้จักกับคนเหล่านี้จริงๆ กลับพบว่า พวกเขาเป็นคนง่ายๆ ไม่ได้เคร่งขรึมอะไร กล้าท้าทายสิ่งใหม่ๆ ไม่กลัวผิดพลาด เธอเล่าว่าอาจารย์ของเธอบอกว่า ให้ทำในสิ่งที่เรารักที่จะทำก็จะมีความสุข ทุกวันนี้เธอยืนยันว่าเธอมีความสุขที่ได้ใช้ชีวิตเรียบง่าย ใช้อัจฉริยะได้ครบทุกด้าน และทำประโยชน์ให้ผู้อื่น สำหรับคำพูดดีดี (ขอบอกว่าคำพูดนี้ได้แง่คิดมากๆ) ที่ดร.โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ ผู้คิดค้นทฤษฎีพหุปัญญา ได้ให้ไว้เมื่อคุณหนูดีถามว่าจะเรียนอะไรดีที่ฮาร์วาร์ด และเธอก็ได้ยึดมั่นคำแนะนำนี้ตลอดเวลาที่เรียนที่ฮาร์วาร์ด คือ

 

“อย่าคิดว่า เรียนอะไรดีถึงจะได้เอาไปใช้กับอาชีพในอนาคต แต่ให้คิดว่า อะไรที่ไม่ได้เรียนแล้วจะเสียดายที่สุด”

 

เกริ่นมาตั้งนานเข้าเรื่อง “อัจริยะ” กันดีกว่าค่ะ ดร.โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ ผู้คิดค้นทฤษฎีพหุปัญญานี้ ได้ให้คำนิยายใหม่แก่โลกใบนี้ว่า อัจฉริยะนั้นมีได้ถึง 8 ประการ คือ

  • อัจฉริยภาพด้านภาษา และการสื่อสาร (Linguistic intelligence)
  • อัจฉริยภาพด้านร่างกาย และความเคลื่อนไหว (Bodily-kinesthetic intelligence)
  • อัจฉริยภาพด้านมิติสัมพันธ์ และการจินตภาพ (Spatial intelligence)
  • อัจฉริยภาพด้านตรรกะ และคณิตศาสตร์ (Logical-mathematic intelligence) 
  • อัจฉริยภาพด้านการเข้าใจตนเอง (Intrapersonal intelligence)
  • อัจฉริยภาพด้านมนุษยสัมพันธ์และการเข้าใจผู้อื่น (Interpersonal intelligence) 
  • อัจฉริยภาพด้านการเข้าใจธรรมชาติ (Naturalist intelligence) 
  • อัจฉริยภาพด้านดนตรี และจังหวะ (Musical intelligence) 

 

ในภายหลังมีการเพิ่มอัจฉริยภาพอีกด้านขึ้นมาคือ อัจฉริยภาพด้านดารดำรงชีวิต (Existential intelligence) ซึ่งในหนังสือเล่มนี้ไม่ได้ระบุไว้ โดยในแต่ละอัจฉริยภาพนี้มีลักษณะเด่นคือ

 

อัจฉริยภาพด้านภาษานี้ จำเป็นมากสำหรับแทบทุกอาชีพ บุคคบที่มีอัจฉริยภาพด้านนี้ คือ คนที่เป็นนายของภาษา สามารถใข้ภาษาได้อย่างที่ใจต้องการ มีทักษะในการรับรู้ข้อมูลผ่านภาษาสูงมาก เป็นคนช่างสังเกต คนกลุ่มนี้จะฟังเก่ง และเข้ากับคนได้หลากหลาย เป็นที่รักของทุกคน โดยผู้เขียนได้แนะนำเทคนิคดีดีเกี่ยวกับการอ่านเร็ว แนะนำให้ฝึกจดบันทึกด้วย mind map และพัฒนาอัจฉริยะด้านนี้ด้วยการฝึกรูปแบบต่างๆ เช่น ฝึกฟังอย่างลึกซึ้ง, ฝึกทำหน้าที่ Moderator, ฝึกออกเสียงตามภาษาอื่นๆ, เลือกฟังเพลงหลายๆภาษา, เคี้ยวอาหารให้ละเอียด เป็นต้น

 

อัจฉริยภาพด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว คือ คนที่สมองทำงานเร็ว และทรงพลังเป็นพิเศษเมื่อร่างกายของเขามีการเคลื่อนไหว เมื่อเขาได้เล่น ได้เต้น ได้ออกกำลัง สิ่งที่น่าสนใจคือ การเคลื่อนไหวร่างกายนั้นทำให้สมองเราดีขึ้น การพัฒนาอัจฉริยภาพด้านนี้ คือ ฝึกการจินตภาพให้ร่างกายทำงานดีขึ้น, ยืนหลังตรง ทำให้สมองไวขึ้น, ต้องหายใจให้ถูกต้อง (หายในเข้าท้องป่อง หายใจออกท้องยุบ), จัดกระดูกหลังให้ตรก (จินตนาการให้อก และเอวห่างกันให้มากที่สุด), ทานอาหารสุขภาพ, ทำสิ่งที่ไม่เคยทำ, ฝึกใช้สมองทั้งสองซีก เป็นต้นค่ะ

 

อัจฉริยภาพด้านมิติสัมพันธ์ และการจินตภาพ มองอะไรก็มักเห็นเป็นภาพชัดเจนอยู่ในจินตนาการ เมื่อคนกลุ่มนี้หลับตาลงจะมองเห็นภาพหนังสือที่อ่านลอยอยู่ตรงหน้าได้ เวลาจะทำอะไรก็มักจะเห็นเป็นภาพความสำเร็จชัดเจนในจินตนาการของเขา ก่อนที่จะลงมือทำเสียอีก คุณหนูดีแนะนำให้ใช้เทคนิค mind map ในการจนบันทึกแบบเป็นภาพ ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูง นอกจากนี้ยังแนะวิธีการพัฒนาศักยภาพด้านนี้ด้วยคือ พกปากกาสีไว้จดบันทึกแบบมีสีสัน, เข้าsearch engine หารูปภาพต่างๆ ทำให้จำแม่นึ้น, ใช้กราฟ แผนภูมิ แผนฝัง, ฝึกเขียนอักษรกลับหัว เป็นต้น

 

อัจฉริยภาพด้านตรรกะและคณิตศาสตร์ วันๆหนึ่งเราต้องใช้ศักยภาพด้านนี้เยอะโดยที่รู้ตัว และไม่รู้ตัว คนที่มีอัจฉริยภาพด้านนี้จะมีลักษณะเป็นคนช่างสงสัย ชอบสืบค้นข้อมูล ชอบสืบสวนสอบสวน สามารถวิเคราะห์ด้วยตรรกะ ทำให้สามารถทำอะไรได้เป็นระบบชัดเจน แนวทางการพัฒนาอัจฉริยะด้านนี้ก็คือ ฝึกบวกค่าอาหาร, บวกเลขทะเบียนรถ, ติดตามข่าววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, ฝึกเล่นเกมส์วางแผน, ฝึกทายบุคคลที่เดินผ่านไปมา เป็นต้น

 

อัจฉริยภาพด้านการเข้าใจตนเอง มักชอบรับพลังงานจากการอยู่นิ่งๆ กับตัวเอง ได้มองดูความคิดตัวเอง มีความสุขกบการคิดไป คิดมา ถาม-ตอบ เกี่ยวกับชีวิตตัวเอง ว่าเราเกิดมาทำไม จะทำอะไรกับชีวิตดี มีความสามารถในการรู้อารมณ์ตัวเองได้ในฉับพลันทันที คนที่มีอัจฉริยภาพด้านการเข้าใจตนเองสามารถอยู่ตามลำพังอย่างมีความสุขโดยไม่ต้องพึ่งผู้อื่น และปัจจัยภายนอก เป็นผู้ที่มีความฉลาดทางอารมณ์สูง ใครอยู่ใกล้แล้วมีความสุข ผู้เขียนแนะนำให้เรามีความคิดเกี่ยวกับ “ความล้มเหลวเชิงบวก” ซึ่งเป็นการมองความผิดพลาดต่างๆ อย่างเป็นบวก ทำให้เราใช้ชีวิตอย่างเต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข มีวิธีพัฒนาอัจฉริยภาพด้านนี้คือ ให้หลับตาเห็นภาพอนาคตของเราให้ไกลสุด และชัดเจนที่สุด, วิเคราะห์หาจุดอ่อนจุดแข็งของตัวเอง, ตั้งเป้าหมายระยะใกล้, เขียนชีวประวัติตนเอง เป็นต้น

 

อัจฉริยภาพด้านมนุษยสัมพันธ์ และการเข้าใจผู้อื่น มีลักษณะเด่นของคนกลุ่ม คือ มีความเป็น “นักฟัง” หรือความเป็นผู้ฟังสูงมาก ชอบที่จะได้รับพลังงานจากคนรอบข้าง รู้สึกชอบเวลาพบเจอผู้คน เป็นนักพูดที่เก่ง ถ้าอยากประสบความสำเร็จทั้งการงาน และชีวิตความสัมพันธ์ส่วนตัวในสังคมแล้วละก็ ความสามารถด้านนี้จึงจำเป็นมาก เราสามารถฝึกพูดคุยกับเพื่อนเก่ง และคุยกับคนแปลกหน้าได้ ซึ่งจะทำให้เราได้เพื่อนใหม่ๆ อีกด้วย การพัฒนาอัจฉริยภาพด้านนี้คือ การฝึกยิ้ม, ฝึกอ่านความหมายจากใบหน้า, ฟังอย่างลึกซึ้ง, คิดแบบชนะ-ชนะ เป็นต้น

 

อัจฉริยภาพด้านการเข้าใจธรรมชาติ ได้ถูกส่งผ่านจากบรรพบุรุษมาในดีเอ็นเอของมนุษย์ทุกคน ถึงแม้เราจะยังไม่รู้ตัวก็ตาม และเป็นปัญญาด้านที่พัฒนาได้ง่าย และเป็น “ธรรมชาติ” ได้มากที่สุด คนกลุ่มนี้จะเข้าใจธรรมชาติ และเข้ากับสัตว์ได้อย่างเป็นธรรมชาติที่สุด เข้าใจต้นไม้ ดวงดาว สรรพสิ่งและธรรมชาติรอบตัว ถ้าเราฝึกเป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติรอบๆตัว เฝ้าสังเกตจะเข้าถึงสิ่งนี้ได้ มีเทคนิคการฝึกดีดีที่คุณหนูดีได้ถูกฝึกมาจากการปฏิบัติธรรม คือ “ดื่มชาหนึ่งแก้ว มองเห็นจักรวาลทั้งจักรวาล” คือ เมื่อดื่มชาแล้วเห็นภาพของจุดกำเนิดชา ตั้งแต่การปลูก สภาพดิน ฟ้า อาการ การเก็บเกี่ยว บรรจุหีบห่อ เป็นต้น ทำให้เห็นถึงการเชื่อมโยงกันของสรรพสิ่งได้อย่างชัดเจน ซึ่งเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาตินั่นเอง วิธีการพัฒนาศักยภาพด้านนี้คือ การออกไปอยู่นอกห้องปรับอากาศ, ไปตลาดต้นไม้, กอดต้นไม้ในสวน(การกอดต้นไม้ใหญ่ให้พลังในการเยียวยาสูง), ทำศิลปะภาพพิมพ์, ถอดรองเท้าเดินบนดิน เป็นต้น

 

อัจฉริยภาพด้านดนตรี และ จังหวะ ช่วยให้เราจำได้แม่น และมองเห็นภาพรวมได้ทั้งหมด ดนตรีและจังหวะช่วยจัดระบบคลื่นสมองให้เข้าสู่ภาวะผ่อนคลาย เหมาะกับการเรียนรู้ และการพักผ่อน คนกลุ่มนี้รักดนตรี และเสียงเพลง ร้องเพลงไม่เพี้ยน แต่งเพลงเก่ง การพัฒนาศักยภาพด้านนี้ทำได้โดย ทำสมาธิฟังเสียงในสวน, ร้องเพลงในห้องน้ำ, ร้องคาราโอเกะ, ดัดแปลงเนื้อเพลงสนุกๆ, ฝึกอ่านออกเสียงเป็นจังหวะจะโคน เป็นต้น

 

ผู้เขียนอธิบายว่าในอดีตนั้นเรามักจำกัดอัจฉริยภาพไว้แค่เรื่องทางการคำรวณ และวิทยาศาสตร์เป็นหลัก และเชื่อว่าข้อสอบวัดไอคิว สามารถบอกได้ว่าใครเป็นอัจฉริยะ แต่หลังจากที่วิทยาศาสตร์ก้าวไกลสามารถสแกนภาพสมองมนุษย์ในขณะที่ยังมีชีวิตได้อยู่นั้น ทำให้เรารู้ว่าสองเรามีเซลล์สมองเท่ากัน ไอน์สไตน์ ดังนั้นโดยทฤษฎีแล้วคนทั่วไปก็ฉลาดเท่ากับไอน์สไตน์ ทำให้ได้มีการวิจัยกันยกใหญ่ว่าแท้จริงแล้วอัจฉริยภาพมีกี่ประการกันแน่ จน ดร.โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ ได้คิดค้นทฤษฎีพหุปัญญา ขึ้นมา เป็นการเปิดมุมมองใหม่ให้กับคำว่า “อัจฉริยภาพ”

 

มีคำหนึ่งที่คุณหนูดีได้กล่าวเอาไว้ “คนเราทำอย่างเดียวให้ดี...ไม่ดีหรอก แต่เราควรทำอย่างหนึ่งให้ดีเลิศไปเลย แล้วทำอย่างที่เหลือให้ดี...จะดีกว่า” เพราะอัจฉริยภาพในตัวเรามีหลายด้าน เราควรจะลองอะไรหลายๆ อย่าง เพื่อค้นพบศักยภาพด้านอื่นที่มีในตัวเราค่ะ ท้ายที่สุดคุณหนูดียืนยันว่า อัจฉริยะ “สร้างได้” จริง แค่เราตั้งใจฝึกฝน และปรับความเข้าใจของเราใหม่ว่าไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้ แค่นี้ก็เป็นการเริ่มต้นที่ดีได้แล้วค่ะ

 

โดยส่วนตัวดิฉันเชื่อว่าอัจฉริยะมี 2 แบบ คือ อัจฉริยะที่ติดตัวมาแต่กำเนิด ไม่ต้องฝึกฝนก็สามารถทำเรื่องนั้นๆได้ดีอย่างเหลือเชื่อ  และ อัจฉริยะที่ต้องอาศัยการ “สร้าง” ซึ่งต้องอาศัย อิทธิบาท 4 (ฉันทะ=ความชอบ, วิริยะ=ความเพียร, จิตตะ= ความเอาใจจดจ่อในสิ่งที่ทำ และ วิมังสา = หมั่นทบทวนพัฒนาปรับปรุง) ในการสร้างความเป็นอัจฉริยะให้สำเร็จค่ะ

 

ดังนั้นขอให้เพื่อนๆ ทุกคนก้าวข้ามผ่านอุปสรรคต่างๆ ในการพัฒนาศักยภาพของเราในแต่ละด้าน เพื่อให้คำว่า ”ศักยภาพ” เปลี่ยนเป็น “อัจฉริยะภาพ” ได้ในที่สุด....

Tag : อัจฉริยะ

Comments to this story

Write a comment


1.  views readmore
ALL Most Viewed
ALL TOP Rated
1.  comments readmore
ALL Most Comment