Follow Us

Story We Share

STORY BY Sasha (Master)

วิธีพูดกับลูก โดยไม่ทำร้ายจิตใจ และให้เขายอมร่วมมือกับคุณ (ตอนที่ 3)

Print October 16, 20133,336 views , 0 comments

วิธีพูดกับลูก โดยไม่ทำร้ายจิตใจ และให้เขายอมร่วมมือกับคุณ (ตอนที่ 3)

 

วันนี้เรามาติดตามต่อว่า ดร.เฮม  จีนอตต์ พูดถึงวิธีการจัดการกับอารมณ์โกรธของคุณพ่อคุณแม่อย่างไร  ในหนังสือ “วิธีพูดกับลูก โดยไม่ทำร้ายจิตใจของเขา และทำให้เขาร่วมมือยอมทำตามคุณ” ไปดูกันค่ะ

 

สำหรับอารมณ์โกรธนั้นเป็นอารมณ์ที่มีแต่ผลเสียเท่านั้น แต่เป็นเรื่องธรรมชาติของคนเราที่ก็ยังมีอารมณ์โกรธดังนั้นมาดูกันค่ะว่าพ่อแม่จะจัดการกับคำพูดเชิงลบ และอารมณ์โกรธอย่างไรบ้าง

 

  • ให้ตระหนักไว้เสมอว่า “คำพูดเชิงลบ ทำร้ายลูกเรา” เหมือนลูกศรอาบยาพิษ เด็กก็มีความรู้สึกทั้งทางร่างกาย และจิตใจ การทำร้ายเด็กด้วยคำพูด ส่งผลเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ เพราะทุกคำพูดจะถูกเก็บสะสม ครุกกรุ่นอยู่ในใจของเด็ก พ่อแม่พูดว่าเขาเป็นอย่างไร เขาก็เชื่อตามนั้นแม้ว่าเขาจะเถียงว่าไม่ใช่ แต่ลึกๆ เขากลับยอมรับทุกคำที่พ่อแม่ว่าเข้าไว้ในจิตใต้สำนึกเรียบร้อยแล้ว ซึ่งคำเหล่านี้พ่อแม่มักจะพูดโดยไม่ตั้งใจ เช่น “นับตั้งแต่เขาลืมตาดูโลก ลูกชายผมก็เป็นตัวปัญหา” “เหมือนแม่ไม่มีผิด หัวดื้อ” “เด็กชายตัวน้อยๆ เอาเวลาของฉันไปหมด เขาไม่รับผิดชอบอะไรเลย” เป็นต้น ดังนั้นพ่อแม่ให้ระวังในทุกคำพูดที่จะสื่อสารออกไปนะคะ

 

  • ความโกรธของพ่อแม่นั้น ส่งผลร้ายต่อลูกมาก เพราะเมื่อพ่อแม่โกรธ คำพูดเชิงลบจะออกมามากมาย ลูกจะรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่รักเขาแล้ว และแม้ว่าพ่อแม่ยังคงยืนยันว่ารักลูก แต่ในขณะที่ยังโกรธก็ไม่มีประโยชน์ พ่อแม่จึงต้องจัดการกับอารมณ์โกรธของตนเอง โดยให้ใช้เหตุผลว่าเพราะอะไรแม่ถึงโกรธ แล้วเมื่ออารมณ์เย็นแล้วจึงค่อยบอกรักลูก จะทำให้ลูกรับรู้ว่าเรารักได้อย่างแท้จริง

 

  • วิธีจัดการกับความโกรธนั้น คนทั่วไปอาจจะมองว่า การตั้งปณิธานกับตัวเองว่าจะไม่โกรธนั้นจะได้ผล แต่ความจริงแล้ว ดร.เฮม บอกว่ามันไร้ประโยชน์ เพราะความโกรธเหมือนพายุไม่สามารถเบรคได้ในทันที เป็นอารมณ์ธรรมชาติที่เราต้องเรียนรู้ และเตรียมใจไว้ ความโกรธมีกระบวนการขั้นตอน เราต้องเรียนรู้ที่จะจัดการกับความโกรธ...

 

  • ดร.เฮม ให้หลักการในการจัดการความโกรธ 3 ขั้นตอน คือ 1. ทำความรู้จักกับความรู้สึกต่างๆ ของตัวเองให้แจ่มชัด ให้เรารู้ว่าเราจะเริ่มโกรธเมื่อไหร่ อารมณ์แบบไหนที่เป็นจุดเริ่มต้นของความโกรธ  2. การแสดงความโกรธควรปล่อยให้ค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เราและคนรอบข้างจัดการกับความโกรธนั้นได้อย่างเป็นขั้นตอน 3. ให้เหตุผลว่าเราโกรธเรื่องอะไร โดยบอกให้รู้ถึงความรู้สึกในใจ และอะไรคือสิ่งที่เราอยากให้มันเกิดขึ้น

 

              สามขั้นตอนข้างต้นนี้ทำให้เราเห็นว่าการจัดการกับความโกรธอย่างเข้าใจจะมีประโยชน์กว่าการเก็บกดอารมณ์ไว้ แล้วระเบิดออกมาภายหลัง...เมื่อเราเข้าใจตัวเองแล้ว เราจะรู้ตัวแล้วว่าจะโกรธ และเมื่อสามารถพูดคุยแก้ไขปัญหาได้ในระยะเริ่มต้นก็จะทำให้เราเย็นลงได้ ไม่ปล่อยให้ความโกรธเกิดขึ้นในระดับรุนแรง

 

             เรื่องความโกรธนี้ ในทางพระพุทธศาสนานั้นสอนให้รู้จักฝึกสมาธิ และสติ จะช่วยให้อารมณ์เย็นมาขึ้น โดยส่วนตัวได้ฝึกสมาธิมาหลายปี แล้วพบว่าผลที่ได้อัศจรรย์มาก คือ เมื่อเราฝึกสติ และสมาธิจนเป็นนิสัย พอเราเริ่มจะโกรธเสียงจากข้างในนั้นเตือนเราขึ้นมาเลยว่า “นี่กำลังจะโกรธแล้วนะ” พอเรารู้ตัวว่าจะโกรธ แล้วเรารู้อยู่แล้วว่าความโกรธไม่ดี เราก็เริ่มที่จะมีสติจัดการกับปัญญานั้นๆ อย่างใจเย็น และนิ่ง บางครั้งอาจจะยังมีความโกรธบ้าง แต่แทนที่จะเป็นระดับ 10 เหลือความโกรธแค่ระดับ 5 ซึ่งก็เย็นพอที่จะทำให้เราจัดการอะไรๆ ได้อย่างดีเลยค่ะ

 

  • กลับมาเข้าเรื่องกันต่อ...พ่อแม่ที่สุขภาพจิตดี และมีความมั่นคงทางอารมณ์ไม่ได้เป็นพระอิฐพระปูน แต่พวกเขายอมรับกับอารมณ์นี้ ไม่ได้พยายามเก็บกดไว้ พวกเขาใช้ความโกรธเป็นแหล่งข้อมูล เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความรัก และความห่วงใยที่มีต่อลูก ดังตัวอย่างดังนี้ เมื่อลูกกลับมาที่บ้านตะโกนโวยวายว่า “หนูไม่มีเสื้อกีฬาใส่แล้ว” แม่ไม่พอใจแต่จัดการกับอารมณ์โกรธโดยพูดว่า “แม่ไม่พอใจนะที่ลูกพูดแบบนี้ เสื้อกีฬาลูกมีตั้งหกตัว แต่ลูกเก็บไม่เป็นระเบียบ เสื้อผ้ายังไงก็อยู่ในตู้นั่นแหละ” ตัวอย่างนี้จะเห็นว่าแม่บอกลูกไปตรงๆ ว่าไม่พอใจแล้วนะ แล้วอธิบายสิ่งที่เป็นปัญหาของลูกให้รู้ว่าลูกควรปรับปรุงตัวอย่างไร แต่สิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งคือ เมื่อโกรธอย่าเอาเรื่องเก่ามาพูด ขุดคุ้ยความผิดพลาดของลูกจะทำให้ลูกเจ็บปวด 

 

  • ในทางกลับกันความโกรธก็มีประโยชน์อยู่บ้าง หากรู้จักแสดงออกมาเพื่อให้ลูกรู้จักเกรงใจพ่อแม่บ้าง เพราะเมื่อลูกทำอะไรไม่ดี แล้วพ่อแม่โกรธลูกจะรู้สึกว่าพ่อแม่ใส่ใจตน แต่ความโกรธนั้นต้องแสดงออกมาอย่างถูกต้อง เป็นลักษณะความโกรธปนความเสียใจ ที่ลูกทำไม่ดี พร้อมด้วยการพูดคุยด้วยเหตุผล ให้ข้อคิด คำแนะนำตามความเป็นจริง

 

            เป็นอย่างไรกันบ้างคะ สำหรับคุณพ่อ คุณแม่ ที่อยากจะจัดการกับความโกรธให้ได้ผล ลองทำตามคำแนะนำของ ดร.เฮม ดูนะคะ นับว่าเป็นวิธีที่ได้ผลทีเดียวค่ะ

 

ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์ http://www.almightydad.com/parenting/talking-to-them-on-their-level

 

Tag : children talk

Comments to this story

Write a comment


1.  views readmore
ALL Most Viewed
ALL TOP Rated
1.  comments readmore
ALL Most Comment