Follow Us

Story We Share

STORY BY Sasha (Master)

วิธีพูดกับลูก โดยไม่ทำร้ายจิตใจ และให้เขายอมร่วมมือกับคุณ (ตอนที่ 1)

Print October 16, 20139,102 views , 0 comments

วิธีพูดกับลูก โดยไม่ทำร้ายจิตใจ และให้เขายอมร่วมมือกับคุณ (ตอนที่ 1)
 

เด็กๆล้วนต้องการกำลังใจในการทำอะไรก็ตาม แต่บางครั้งคุณพ่อคุณแม่ มักจะหลงลืมที่จะใช้คำพูดเชิงบวกพูดเพื่อให้กำลังใจลูกๆ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาไปซะหมด วันนี้เรามีคำแนะนำดีดีจากหนังสือ “วิธีพูดกับลูก โดยไม่ทำร้ายจิตใจของเขา และทำให้เขาร่วมมือยอมทำตามคุณ” โดย ดร.เฮม จีนอตต์ (Dr. Haim Ginott) ซึ่งเป็นจิตแพทย์ นักจิตวิทยาเด็ก จบปริญญาเอกที่ Columbia University เป็นผู้ให้การศึกษาแก่พ่อแม่ปกครองที่มีชื่อเสียง ไปดูกันค่ะว่าดร.เฮม จะมีคำแนะนำอะไรดีดีบ้าง
 
ดร.เฮม กล่าวว่าสิ่งสำคัญระหว่างพ่อ แม่ และลูก คือ ความเข้าอกเข้าใจกัน คำพูดของพ่อแม่สำคัญต่อลูกมาก ถ้าพูดดีจะเปรียบเหมือนน้ำผึ้งชโลมใจไปตลอดชีวิต แต่หากพูดไม่ดีสามารถทำให้เกิดบาดแผลร้ายแรงทางจิตใจของลูกได้ ดังนั้นต้องระมัดระวัง ดร.เฮม จึงให้ความสำคัญกับคำพูดมาก วันนี้มาดูวิธีการพูดเชิงบวกกับลูกกันนะคะ
 
ไม่มีพ่อแม่คนไหนปรารถนาที่จะทำร้ายลูก แต่ด้วยคำพูดที่ไม่ได้กลั่นกรองให้ดีนั้นสามารถเป็นเหตุให้ทำร้ายลูกได้ มีข้อคิดในการพูดคุยกับลูกดังนี้

  • พ่อแม่จำเป็นที่จะต้องใช้คำพูดกับลูกเหมือนกับเวลาที่พูดกับแขกคนสำคัญ  คือ บ่อยครั้งด้วยความที่คิดว่าลูกเป็นลูก จึงใช้คำพูดตำหนิติเตียนแบบไม่ทันได้นึกถึงความรู้สึกของลูก ในทางกลับกัน ถ้าพูดคุยกับแขกคนสำคัญแม้ว่าเขาจะทำอะไรผิด เราก็จะไม่ใช้คำพูดไม่ดีตำหนิเขา เราจะพยายามสรรหาคำพูดที่พูดแล้วจะไม่ทำให้เขารู้สึกไม่ดี ดังนั้นหากพ่อแม่ตระหนักตรงจุดนี้ และพยายามคัดสรรคำพูดที่ดีเมื่อลูกทำผิดปัญหาจะไม่เกิดค่ะ

  • พ่อแม่ควรเข้าใจว่า บางครั้งคำถามของลูกนั้นไม่ใช่คำถามที่แท้จริง แต่เป็นคำถามที่ซ้อนความหมายลึกซึ้งข้างใน เช่น เมื่อเด็กได้รู้เรื่องราวว่ามีเด็กมากมายที่ถูกพ่อแม่ทิ้ง เด็กอาจจะถามว่า “พ่อครับ มีเด็กที่ถูกทอดทิ้งใน....กี่คนครับ” ความจริงลูกไม่ได้ต้องการคำตอบเป็นตัวเลข แต่เขาต้องการสะท้อนให้พ่อ เห็นว่าเขากลัวว่าเขาจะถูกทอดทิ้งเป็นต้น ดังนั้นพ่อแม่ ควรจะพยายามเดาใจเขาว่าเขาต้องการอะไร กรณีนี้เมื่อรู้ว่าลึกๆ เขากลัวถูกทิ้ง และสิ่งที่เขาต้องการได้ยิน คือ “ก็คงมีเยอะลูก แต่ลูกไม่ต้องกลัวว่าพ่อจะทิ้งลูกนะ พ่อไม่มีวันทำแบบนั้น” เพียงแค่นี้ก็เรียบร้อย ในทางตรงข้างถ้าพ่อไม่เข้าใจ รู้สึกหงุดหงิดว่าจะถามเรื่องตัวเลขพวกนี้ไปทำไม แล้วตอบลูกกลับอย่างโมโห ก็จะยิ่งทำให้ลูกคิดมากและเสียใจ อาจจพาลคิดกังวลไปต่างๆ นาๆว่า สักวันพ่อคงทิ้งเขาไปกลายเป็นปมในใจไปอีก

  • บางครั้งเมื่อลูกพูดอะไรๆ ออกมา ซึ่งในสายตาพ่อแม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องไม่สำคัญ หรือไร้สาระ อย่ามองข้ามให้เรารับฟัง และแสดงความรู้สึกหรืออารมณ์ร่วมอย่างเข้าใจ เพราะบางครั้งเด็กๆเขาก็ต้องการให้มีใครรับฟัง เข้าใจ และพูดคุยปรับทุกข์บ้าง แม้ว่าเรื่องนั้นดูไร้สาระสำหรับผู้ใหญ่แต่สำหรับเด็กๆ นั้นเป็นเรื่องใหญ่ทีเดียว เช่น  การที่พ่อแม่ ผิดคำพูดที่จะพาไปเที่ยว ซึ่งด้วยเหตุผลแล้ว อาจมีเหตุการณ์สำคัญที่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้น แต่ลูกอาจไม่เข้าใจและบ่นน้อยใจ พ่อแม่ควรปลอบใจ ยอมรับในการผิดคำพูดนั้น และเข้าอกเข้าใจเขาว่าเขาผิดหวัง แต่หากพ่อแม่ไม่เข้าใจเมื่อลูกบ่น แล้วคิดว่าลูกไม่เข้าใจตนกลับตะคอกกลับ ยิ่งทำให้เหตุการณ์เลวร้ายลงไปอีก
          หรือบางกรณีลูกอาจจะมีเรื่องมาจากที่โรงเรียน เช่น โรงเรียนยกเลิกการไปทัศนศึกษา เมื่อกลับมาจึงมาบ่นด้วยคำพูดที่ไม่รื่นหูนัก สิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือ รับฟัง มีอารมณ์ร่วมไปกับเขา และปลอบใจ ทำให้เขาสบายใจ และรู้สึกว่าคนที่บ้านเข้าใจเขา แล้วเขาก็จะสบายใจ และรู้สึกรักพ่อแม่ ที่เข้าใจเขา และโอกาสนี้พ่อแม่ยังใช้เป็นช่วงเวลาในการสอนลูกได้อีกด้วย แต่หากพ่อแม่เห็นลูกบ่นรู้สึกรำคาญ แล้วดุด่ากลับไป จะยิ่งทำให้เหตุการณ์เลวร้าย และลูกก็จะยิ่งอาละวาดหนัก ที่แย่ที่สุดคราวหลังเมื่อเขามีปัญหา พ่อแม่จะไม่ใช่บุคคลที่เขาจะเข้าหา และมาเล่าปัญหาให้ฟังอีกต่อไป เชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนคงไม่ต้องการให้เป็นอย่างนั้นใช่ไม๊ล่ะคะ

  • คำพูดที่มองดูว่าไร้ประโยชน์ของพ่อแม่ คือ คำพูดที่มุ่งแต่จะอบรม สั่งสอน อยู่ตลอดเวลา เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกว่าตนทำอะไรผิดตลอดทำให้พ่อแม่ต้องคอยอบรม ทั้งที่จริงๆ แล้วพ่อแม่หวังดีอยากสอนลูก แต่ต้องดูจังหวะเวลา และวิธีการที่จะทำให้เขาไม่รู้สึกว่ากำลังถูกตำหนิ บางครั้งการสอนนั้นสามารถทำได้ด้วยวิธีการปฏิบัติให้ดูก็ยังได้ เป็นการสอนด้วยการกระทำ ก็จะช่วยลดการสอนด้วยคำพูดได้ค่ะ
            จากข้อมูลข้างต้นทำให้เราพอจะเข้าใจความคิดของเด็กๆ มากขึ้นนะคะ สิ่งสำคัญที่สุด คือ พยายามเข้าใจเข้าอย่างแท้จริง ให้ความรัก ความเอาใจใส่กับเขา และยอมรับในสิ่งที่เขาเป็นค่ะ คำแนะนำของ ดร.เฮม ยังไม่จบเท่านี้มาติดตามกันต่อตอนหน้านะคะ  


Tag : children talk

Comments to this story

Write a comment


1.  views readmore
ALL Most Viewed
ALL TOP Rated
1.  comments readmore
ALL Most Comment