Follow Us

Story We Share

STORY BY Sasha (Master)

Once upon a time in India (ตอนที่ 2)

Print December 03, 20132,189 views , 0 comments

Once upon a time in India (ตอนที่ 2)
กาลครั้งหนึ่งในอินเดีย-ตามรอยสังเวชนียสถาน
 
สวัสดีค่ะ...จากตอนที่แล้วเมื่อเราเตรียมกระเป๋า จัดข้าวของทุกอย่างเรียบร้อยแล้วเราก็ออกเดินทาง ซึ่งเราเดินทางกันในเวลากลางคืนถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ตั้งแต่ 3 ทุ่ม รอขึ้นเครื่องการบินไทย ประมาณ ห้าทุ่ม นั่งเครื่องหลับๆอยู่ ก็ถูกปลุกมาทานข้าว..ทานเสร็จแล้วก็หลับต่อมารู้ตัวอีกทีก็มาถึงที่ประเทศอินเดีย เมืองกัลกาต้าแล้วค่ะ....:D
 
ก่อนอื่นมาเทียบเวลากันก่อน...เวลาไทย เร็วกว่าอินเดีย 1ชม.30นาที นะคะ ตอนที่มาถึงนี่ก็ประมาณตี 3 ประเทศไทยแล้ว แต่ที่อินเดียยังตีหนึ่งครึ่งอยู่ แต่ไม่ว่าจะเวลาไหนตอนนี้สิ่งที่เหมาะแก่การทำที่สุด ก็คือ การนอน...ง่วงมากจริงๆ เมื่อผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองกันมาเรียบร้อยแล้วเราก็เห็นรถโค๊ชปรับอากาศมาจอดรออยู่หน้าสนามบิน Subash Chandra Bose เมืองกัลกาตาแล้ว...เย้ จะได้นอนต่อซะที


 
ที่เรามาประเทศดินเดียนี้เป็นช่วงปลายเดือนตุลาคม ต้นเดือนพฤศจิกายน อากาศยังไม่หนาวมาก แค่เย็นๆ ในเวลากลางคืน และตอนเช้า แต่กลางวันนี่สิ...ก็ร้อนเหมือนประเทศไทยเลยค่ะ...เรามุ่งหน้าไปยังเมืองพุทธคยาใช้เวลาประมาณ 8-10 ชม. ก็เรียกได้ว่านอนกับบนรถนี่เลยค่ะ ในระหว่างทาง อ.จันทร์ (ลูกศิษย์ส่วนมากจะเรียกชื่อสั้นๆ ของอาจารย์ ดร.จันทรัชนันท์ แบบนี้ค่ะ) ก็ได้อธิบายเรื่องราวของเมืองกัลกาตาไว้ว่า...กัลกาตา เป็นเมืองหลวงของรัฐเบงกอลตะวันตก มีพลเมืองมากเป็นอันดับ 3 ของประเทศ เมืองนี้เคยเป็นเมืองหลวงของประเทศอินเดียสมัยที่อังกฤษปกครองอยู่ จึงเป็นศูนย์รวมการศึกษาสมัยใหม่ วิทยาศษสตร์ วัฒนธรรม  และการเมือง จนกระทั่งได้มีการย้ายเมืองหลวงไปนิวเดลีในปี พ.ศ.2454…พอขึ้นไปบนรถสักพักเจ้าหน้าที่ที่นำทัวร์ทั้งคนไทย และคนอินเดีย ก็ช่วยกันแจกข้าวเข้าบนรถ มื้อแรกในอินเดียนี้ก็คือ “ข้าวเหนียว หมูแดดเดียว”  (เจ้าหน้าที่เขาคงเตรียมกันมาตั้งแต่อยู่ประเทศไทยและขนขึ้นเครื่องกันมาด้วยน่ะค่ะ) และน้ำมะม่วงยี่ห้อ “Frooti” อร่อยมากจริงๆ เลย จากนั้นต่างคนก็ต่างหลับๆ ตื่นๆ กันไป พร้อมกับเสียงบีบแตรรถไปตลอดทาง...ในระหว่างที่หลับๆตื่นๆ ก็ยังสงสัยว่า “ทำไม...การจราจรเขาถึงจอแจนัก...บีบแตรกันเยอะจริงๆ” แต่ที่น่าสนใจคือ เสียงแตรเขาหวานเย็นมากๆ คือ เป็นเสียงประมาณว่า “ตะแล๊นๆๆ” ไม่ใช่เสียง “ปี๊นๆๆ” ที่ฟังดูแล้วน่าตกใจ เหมือนรถในประเทศไทย และที่อื่นๆ ดังนั้นแม้เขาบีบกันเยอะมากๆ แต่ก็ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกโมโห หรือโกรธ อาจจะมีบ้างก็แค่รู้สึกหนวกหูเท่านั้นเองค่ะ
 


ระหว่างทางโชคดีจัง...เขาจอดแวะที่ร้านอาหารเพื่อให้เราได้เข้าห้องน้ำ นั่งทานชานมอินเดีย และยืดเส้นยืดสายกัน...เอาแล้วๆ เข้าห้องน้ำอินเดีย จะเจออะไรบ้างเนี่ย พวกเราก็ต่อคิวยาวกันเลย สภาพร้านอาหารของเขามันดูเหมือนรกร้าง ไม่ค่อยสะอาดเท่าไหร่ ทีแรกต้องบอกตรงๆ ว่าไม่ชินเลย แต่เห็นอินเดียมากเข้าในวันหลังๆ ก็เริ่มชินกับสภาพที่มีฝุ่นเยอะๆ ร้านรวง บ้านช่อง ดูไม่ค่อยเรียบร้อยเท่าไหร่ แต่เอาเถอะค่ะ อารมณ์นี้เราจะมาสำรวจห้องน้ำ คิวยาวมาก...บอกเลยว่ากลิ่นนี้มาไกลเลยค่ะ ห้องน้ำเขาก็แคบๆ มืดๆ เป็นล้มซึมที่เป็นหลุมไปเลย ก็ต้องอุดจมูกเข้านิดนึงค่ะ เสร็จแล้วคนนำรถชาวอินเดียก็อุตส่าห์มาโยกน้ำให้พวกเราล้างมือกัน ได้อารมณ์โบราณยังไงก็ไม่รู้ค่ะ เดินผ่านห้องครัวของเขาเห็นเตาอบแผ่นจำปาตีของเขาด้วยค่ะ แต่ขอบอกว่าชานมร้อนๆ (การัมจาย) ของเขาแม้หน้าตาดูไม่น่าอร่อย แต่ทานแล้วอร่อยมากเลยค่ะ


โรงแรมที่แวะเข้าห้องน้ำกันค่ะ


 แถวรอเข้าห้องน้ำ (ยาวมากค่ะ)


เตาอบแป้งจำปาตี (เอาไว้ทานกับแกงประเภทต่างๆ กลมๆคล้ายโรตี)


ก๊อกน้ำบาดาล โยกๆ แล้วน้ำก็ออกมาค่ะ


การัมจาย (ชานม) อร่อยมาก

ตลอดสองข้างทางนั้นท่านอาจารย์ ดร.จันทร์ได้อธิบายให้พวกเราเห็นภาพของประเทศอินเดียไว้ในเบื้องต้นว่าประเทศนี้เป็นประเทศที่มีทุกอย่างครบไม่ว่าจะสนุกสนาน สวยงาม หดหู่ ทรุดโทรม ศิลปะวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์อันยาวนาน การซื้อของในประเทศอินเดียถ้าไม่ใช่ร้านใหญ่ๆ ไม่ควรให้แบงค์ใหญ่ เพราะเขาจะตุกติกเวลาที่ทอนเงินให้เรา (ซึ่งอันนี้เจอเองเลยค่ะในวันหลังๆ แล้วจะเล่าให้ฟังค่ะ) พวกเครื่องกระเบื้องเคลือบไม่ควรซื้อเพราะไม่ใช่ของที่มีชื่อเสียงของเขา สิ่งที่ควรจะซื้อคือ ผ้าไหมอินเดียเมืองพาราณสี (แต่ให้ระวังผ้าสี เพราะสีจะตกเวลาซัก) และพวกเครื่องทองเหลืองเพราะเนื้อดีมากติดอันดับโลกค่ะ...เมื่อมองไปนอกหน้าต่างก็ต้องตกใจค่ะ เพราะเห็นคนเหลือครึ่งตัวคาล้อรถอยู่ แต่เมื่อมองให้ดีจึงเห็นว่าเป็นคนเขากำลังซ่อมรถค่ะ


มองทีแรกตกใจ...คนหัวหายไปไหน? 

ในที่สุดเราก็มาถึงที่พุทธคยา อำเภอคยา รัฐพิหาร ในเวลาประมาณ บ่ายโมงครึ่ง ณ วัดไทยพุทธสาวิกา ทานอาหารกลางวันกัน เข้าที่พักแล้วพักผ่อนกันตามอัธยาศัย ที่วัดไทยพุทธสาวิกานี้ มีแม่ชีแก้วเป็นผู้นำในการปลูกสร้าง ซึ่งขณะนี้ก็ยังมีการสร้างที่พักสงฆ์อยู่ แต่แม้ว่าที่พักยังไม่เสร็จสมบูรณ์ดี ท่านก็เมตตาให้คณะของเราเข้าพัก และดูแลต้อนรับอย่างดี เรียกว่าตลอดเวลาที่พักที่นี่ไม่รู้สึกคิดถึงอาหารไทยเลย เพราะ มีอาหารไทยๆ เช่น น้ำพริก น้ำแกง ของหวานให้ทานกันเต็มที่ค่ะ พอได้เวลาประมาณ 5 โมง เราก็รวมตัวกันเพื่อจะไปนมัสการต้นพระศรีมหาโพธิ์ สถานที่ตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในระหว่างทางพระอาจารย์ที่นำพวกเราไปนั้นก็ได้เล่าปกิณกะต่างๆ เกี่ยวกับประเทศอินเดียให้ฟัง อย่างแรกเลยคือ การซื้อของ ท่านให้หลักว่า “ยิ่งซื้อเร็วยิ่งได้ของแพง ซื้อช้าที่สุดได้ถูกที่สุด” บางอย่างทีแรกเขาอาจจะเสนอ 100 บ. (ที่นี่เขาชอบที่รรับเงินไทยมากค่ะ) แต่สุดท้ายอาจเหลือ 5 อัน 100 บ. ได้จริงๆ ฟังแล้วก็ยังรู้สึกว่ามันเกินไปรึเปล่าเนี่ย?....ไม่ทันไรก็ถึงที่หมายแล้วแล้ว ใกล้นิดเดียวจากวัดไทยพุทธสาวิก่าค่ะ


ทางเข้าวัดไทยพุทธสาวิกา (กำลังก่อสร้างที่พักสงฆ์)

ในปัจจุบันสถานที่ตรัสรู้ธรรมนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วัดมหาโพธิ” อยู่ในความดูแลของคณะกรรมการร่วมพุทธ-ฮินดู มาถึงตรงนี้คงต้องเล่าถึงประวัติความเป็นมาของพุทธคยากันสักนิดนะคะ...ในสมัยพุทธกาลอย่างที่ทราบกันดีว่าที่นี่คือที่ตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธคยาตั้งอยู่ในหมู่บ้านชื่อว่า “อุรุเวลาเสนานิคม” แคว้นมคธ ซึ่งเป็นสถานที่ที่สัปปายะ (สถานที่เป็นที่สบาย) คือ มีป่า แม่น้ำในเย็นจืดสนิท และบ้านผู้คนอยู่โดยรอบ และเมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้ว ก็ยังได้ใช้สถานที่บริเวณนี้ เสวยวิมุตติสุขอยู่ 7 สัปดาห์ นอกจากนี้พุทธคยายังเป็นที่เกิดอุบาสก 2 คนแรกในพระพุทธศาสนา คือ ตปุสสะ และ ภัลลิกะ 2 พ่อค้า มาพบพระพุทธเจ้ามีพระวรกายผ่องใส จึงเข้ามาถวายข้าวสัตตุผล และสัตตุก้อน (ขนมประเภทข้าวตู) แล้วแสดงตนเป็นพุทธมามะกะ เป็นอุบาสกคู่แรกของโลก พระองค์ยังประธานพระเกศาแก่พ่อค้าทั้งคู่เพื่อเป็นที่ระลึกในพุทธานุสติด้วย...สำหรับสิ่งปลูกสร้างต่างๆนั้นเริ่มสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช และได้มีการต่อเติมเรื่อยมาโดยกษัตริย์ชาวพุทธในอินเดีย จนกระทั่งเมื่อกองทัพมุสลิม บุกโจมตีอินเดีย พุทธคยาจึงถูกปล่อยให้รกร้างไม่มีใครดูแล้ว...จากนั้นจึงมีกลุ่มฮินดูเข้ามาครอบครองสถานที่แห่งนี้ในราวปี พ.ศ.2133 โดยนักบวชฮินดูชื่อ โคเสน ฆมัณฑิคีร์ ได้ตั้งสำนักเล็กๆ ใกล้พุทธคยา เมื่ออยู่นานเข้าจึงเข้าครอบครอง และแปลงให้เป็นเทวสถานไปโดยปริยาย จนในภายหลังจึงมีการตกลงดูแลสถานที่แห่งนี้ร่วมกันดังกล่าว
 
เมื่อพวกเราเข้าไปยังสถานที่แห่งนี้นั้นก็ค่อนข้างเย็นแล้ว  ระหว่างทางเดินเข้าเราก็ถูกรุมล้อมค่ะ...จากบรรดาพ่อค้า และขอทาน (เจอของจริงแล้ว...วันแรกก็เจอเลยค่ะ)เราก็ต้องพยายามไม่มอง และเดินๆๆ เพราะมีคนเตือนว่าถ้าให้คนนึง แล้วก็จะมีขอทานอีกเยอะมากกรูเข้ามา ซึ่งพวกเราต้องรีบเข้าไปด้านในจึงพยายามรีบเดินตามกันไป ก่อนจะเข้ามีเจ้าหน้าที่ตรวจกระเป๋า สแกนตัวเราก่อนด้วยนะคะ เมื่อไปถึงบริเวณทางลงไปที่เจดีย์ ต้องบอกว่า...ตะลึงค่ะ...เพราะมันสวยมากจริงๆ สถาปัตยกรรม ความประณีตของเจดีย์พุทธคยานั้นสวยงามกว่าที่เห็นในรูปภาพหลายเท่าตัวนัก พื้นดินที่เรายืนอยู่นี้ปัจจุบันสูงกว่าพื้นที่ตั้งของเจดียพุทธคยามาก เราต้องลงบันไดไปหลายสิบขั้น เนื่องจากเวลาผ่านไปหลายพันปีมีดินตะกอนแม่น้ำมาทับถมกันมากเข้าจนสูงอย่างในปัจจุบัน เราเดินกันลงไปมุ่งหน้าไปยังต้นพระศรีมหาโพธิ์ก่อนเพราะเราจะไปร่วมกันนั่งสมาธิ และสวดมนต์กันที่นั่น..เมื่อเราลงไปถึงฐานเจดีย์ก็ไปเวียนประทักษิณ 3รอบ นมัสการพระพุทธเมตตาที่อยู่คู่เจดีย์ แล้วมาหยุดอยู่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ซึ่งอยู่ติดกับเจดีย์พุทธคยา แล้วเตรียมสวดมนต์กัน ตอนนั้นเวลาค่อนข้างเย็นมากแล้วแต่ที่นี่เขาปิดถึง 3ทุ่มค่ะ เพื่อให้ชาวพุทธได้เข้ามาสักการะ ปฏิบัติธรรม สวดมนต์กันอย่างเต็มที่



ขอบอกว่าในระหว่างที่ดิฉันได้เวียนประทักษิณนั้น มันเกิดอารมณ์ปีติบอกไม่ถูกค่ะ เพราะมองไปรอบตัวก็เห็นผู้คนที่เต็มเปี่ยมไปด้วยศรัทธามาเดินทางมายังสถานที่แห่งนี้ ระหว่างที่เดินไปก็ตรึกระลึกนึกถึงเหตุการณ์ที่พระพุทธองค์ เอาชีวิตเป็นเดิมพัน นั่งอยู่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ แล้วตรัสว่า”แม้เลือดเนื้อจะเหือดแห้งหายไป เหลือแต่เอ็น หนัง หุ้มกระดูกก็ตามที ถ้าไม่บรรลุธรรมแล้วจะไม่ลุกจากบัลลังก์นี้” จากนั้นท่านก็ต้องเผชิญกับพญามารที่จะมาทำลายความตั้งมั่นของพระองค์ ขนาดเทวดาที่มาคอยติดตามเมื่อเจอพญามารยังหนีไปอยู่ขอบจักรวาล แต่พระองค์ไม่หวั่นไหว นึกถึงบารมี 30ทัศ ที่ทรงบำเพ็ญมากว่า 20อสงไขย แสนมหากัป โดยมีพระแม่ธรณีผู้เป็นพยาน แล้วน้ำที่พระองค์หลั่งลงธรณีในทุกครั้งที่ได้สร้างบารมีนั้นจึงถาโถมเข้าท่วมมารเหล่านั้นจนพ่ายไป แล้วก็นึกเห็นภาพท่านนั่งประทับใต้ต้นโพธิ์จนกระทั่งตรัสรู้ธรรม...เป็นยังไงบ้างคะนึกตามแล้วปลื้มกันไหมคะ

ผู้คนที่มากันจะมาสัการะด้วยวิธีการอันหลากหลาย โดยมากก็จะนำดอกไม้มาสักการะกัน ส่วนดิฉันเนื่องจากในคณะมีเพื่อนที่อุตส่าห์ฝากกำยานมาจุดถวายเป็นพุทธบูชา เราจึงช่วยกันจุด และ วางถวายเอาไว้ ณ ที่นั่นด้วย



หลังจากที่ได้สวดมนต์เสร็จแล้ว เราจึงเตรียมตัวกลับที่พัก เนื่องจากโดยรอบมืดหมดแล้ว และ พรุ่งนี้เราต้องออกเดินทางกันแต่เช้า เพื่อไปยังเมืองราชคฤห์ ขึ้นเขาคิชกูฏกัน แต่พุทธคยายังไม่จบเพียงแค่นี้...เราจะมากันอีกครั้งในเวลากลางวัน เพื่อชมสถานที่โดยรอบแบบชัดเจนค่ะ สำหรับวันนี้อาบุญมาฝากทุกท่านนะคะ
Tag : Buddhakaya India

Comments to this story

Write a comment


1.  views readmore
ALL Most Viewed
ALL TOP Rated
1.  comments readmore
ALL Most Comment