Follow Us

Story We Share

STORY BY Sasha (Master)

สมถะเท้าขวา วิปัสสนาเท้าซ้าย

Print June 26, 20133,082 views , 0 comments

สมถะเท้าขวาวิปัสสนาเท้าซ้าย

 

สวัสดีค่ะ หนังสือที่จะนำมาสรุปให้ฟังวันนี้นะคะ ชื่อว่า สมถะเท้าขวา วิปัสสนาเท้าซ้าย เขียนโดย พศิน อินทรวงศ์ สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ (ในเครืออมรินทร์) หนังสือเล่มนี้ เขียนโดยใช้ภาษาที่ง่ายๆ ทำให้เราเห็นภาพรวมของการปฏิบัติธรรมได้

หนังสือเล่มนี้ยืนยันว่า สมถะ และ วิปัสสนา จำเป็นต้องปฏิบัติควรคู่กันไป จะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปไม่ได้ เหมือนเราเดินเราต้องก้าวด้วยขวา และซ้ายไปด้วยกัน จึงจะสามารถเดินหน้าไปได้

โดยผู้เขียนได้เขียนตัวอย่าง และประเภทของการบรรลุธรรมของพระอรหันต์ว่า ท่านปฏิบัติสมถะ และวิปัสสนาเช่นเดียวกัน ซึ่งมีการแทรกคำสอนของพระอาจารย์ที่มีชื่อเสียงทั้งในอดีตจนปัจจุบันเพื่อความชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต, หลวงพ่อฤาษีลิงดำ เป็นต้น และยังอธิบายเรื่องพื้นฐานให้เข้าใจว่า สมถะ นั้นคือความหยุดนิ่ง ความสงบของจิต มีจุดมุ่งหมายขั้นสูงสุดคือ ฌาน  ส่วนวิปัสสนา คือ ความเห็นแจ้ง จึงรู้แจ้ง และมีจุดหมายสูงสุดคือ ญาณ

ผู้เขียนได้อธิบายเพิ่มเติมว่าฌาน มี8 ระดับ ตั้งแต่รูปฌาน 4 และอรูปฌาน 4 แต่ละระดับมีองค์ฌานที่ต่างกัน มีสภาวธรรมต่างกัน และยังอธิบายเกี่ยวกับนิโรธสมาบัติ คือ การบำเพ็ญของนักปฏิบัติธรรมชั้นสูง ผู้ที่จะเข้านิโรธสมาบัติได้ ต้องเป็นพระอริยบุคคลระดับพระอนาคามี หรือพระอรหันต์ที่ชำนาญในสมาบัติ 8 แล้วเท่านั้น โดยจะใช้เวลาอย่างน้อย 7 วัน ไม่เกิน 15 วัน หากใครได้ทำบุญกับผู้ที่ออกจากนิโรธสมาบัติใหม่ๆ จะได้บุญมาก เพราะผู้รับทานมีความบริสุทธิ์มากนั่นเอง

ส่วนญาณนั้นผู้เขียนได้อธิบายว่า ญาณ คือ การหยั่งรู้อันวิเศษ เป็นความรู้ความเข้าใจที่เข้าถึงความจริงแท้ ญาณ คือ สิ่งที่เกิดขึ้นในระหว่างการปฏิบัติธรรม มีหลายระดับ สำคัญที่สุด คือ อาสวักขยญาณ คือ ญาณที่ใช้ในการกำจัดกิเลสให้หมดสิ้นไป

สำหรับวิปัสสนูปกิเลสนั้น ผู้เขียนอธิบายว่า เป็นอุปสรรคซึ่งคอยขัดขวางการปฏิบัติธรรม เป็นธรรมารมณ์ที่เกิดแก่ผู้ที่ได้วิปัสสนาญาณขั้นอ่อนๆ ดูน่าชื่นชม แต่ความจริงเป็นโทษ เพราะทำให้เข้าใจผิดคิดว่าตนบรรลุธรรมแล้ว

สุดท้ายผู้แต่งเสริมด้วยว่า การจะปฏิบัติได้ดีนั้น พละ 5 มีความสำคัญมาก เพราะ เป็นเครื่องทำใจให้มีพลัง คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา และได้ยกพุทธพจน์ที่ว่า บุคคลหากตั้งใจปฏิบัติธรรมให้จริงแล้ว จะบรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคลได้ทั้งสิ้น อย่างเร็ว 7 วัน อย่างกลาง 7 เดือน อย่างช้า 7 ปี ดังนั้นผู้เขียนจึงขอเป็นกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติธรรมทุกท่านสามารถเดินตามรอยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้สำเร็จ

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า ทั้งสมถะ และวิปัสสนานั้นเป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติควบคู่กันไป จะปฏิบัติแต่สมถะอย่างเดียวก็ไม่สามารถบรรลุธรรมได จะปฏิบัติแต่วิปัสสนาอย่างเดียวโดยไม่ใช้สมถะเป็นบาทก่อน ก็ไม่ได้เช่นเดียวกันนั่นเอง

 

Tag : สมถะ วิปัสสนา

Comments to this story

Write a comment


1.  views readmore
ALL Most Viewed
ALL TOP Rated
1.  comments readmore
ALL Most Comment