Follow Us

Story We Share

STORY BY Sasha (Master)

พุทธศาสตร์-วิทยาศาสตร์ เหมือน-ต่าง ตรงไหน? (2)

Print January 09, 20142,160 views , 0 comments

พุทธศาสตร์ และ วิทยาศาสตร์ เหมือน หรือ ต่างกันตรงไหน? (ตอนที่ 2)



จากตอนที่แล้วเราพูดกันเบื้องต้นว่า พระพุทธศาสนาแตกต่างจากศาสนาอื่นๆ และมีความเป็นวิทยาศาสตร์อย่างไร ตอนนี้เรามาดูกันต่อในรายละเอียดว่า แล้วความเหมือน หรือความแตกต่างของพุทธศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ มีความเหมือน หรือ ต่างกันในประเด็นไหนบ้าง
 
การที่พระพุทธศาสนาเน้นให้ผู้ที่มาศึกษาพิสูจน์ด้วยตัวเองนี้คือ หลักการสำคัญที่ทำให้พระพุทธศาสนา มีหลักการเดียวกันดับวิทยาศาสตร์...จุดเริ่มต้นของวิทยาศาสตร์นั้นเกิดจาก การที่นักวิทยาศาสตร์ ซึ่งมักจะเป็นผู้ที่ช่างสังเกตสิ่งรอบตัวตามธรรมชาติ แล้วเกิดความสงสัยว่าสิ่งเหล่านั้นมีที่มา ที่ไปอย่างไร เหตุใดจึงเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้น เช่น เรื่องเกี่ยวกับปรากฏการณ์ธรรมชาติ สงสัยว่าทำไมฝนจึงตก ทำไมพระอาทิตย์ พระจันทร์จึงขึ้นต่างเวลากัน ทำไมน้ำทะเลจึงมีขึ้นมีลง ทำไมเมื่อโยนอะไรขึ้นไปแล้วมันจึงตกลงมา เป็นต้น นักวิทยาศาสตร์เหล่านี้จึงได้ทำการทุ่มเทศึกษากลไกเหล่านั้น ตั้งสมมติฐาน แล้วก็ทำการทดลอง พิสูจน์ ครั้งแล้วครั้งเล่าด้วยเครื่องมือต่างๆ ที่จะสามารถควบคุมตัวแปร และพิสูจน์ได้ว่าคำตอบที่ได้นั้นเป็นคำตอบที่เป็นสัจธรรม แท้จริง ซึ่งโดยธรรมชาติของวิทยาศาสตร์นั้น คำตอบที่ได้มักไม่ใช่ที่สุด ยังไม่สมบูรณ์ หมายถึง เป็นคำตอบที่ใช้ได้ในช่วงสมัยหนึ่ง เมื่อเวลาผ่านไปมีเครื่องมือใหม่ๆ ที่สามารถพิสูจน์ได้ชัดเจนขึ้น คำตอบที่ได้ก็จะปรับเปลี่ยนไปตามความทันสมัยของเครื่องมือที่ใช้ในการทดสอบ พิสูจน์ เช่น สมัยก่อนมนุษย์มีความเชื่อว่าโลกแบน แต่ภายหลังก็พิสูจน์ได้ว่า โลกกลม สมัยก่อนเชื่อว่าในจักรวาลมีเพียงระบบสุริยะจักรวาลของเรา ซึ่งมีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง แต่เมื่อภายหลังกล้องโทรทัศน์สามารถส่องได้ไกลมาขึ้น จึงได้เห็นว่ายังมีจักรวาลอีกมากมายนับไม่ถ้วน เป็นกาแลกซี่ที่นับประมาณไม่ได้ทีเดียว นี้เป็นตัวอย่างเบื้องต้นที่แสดงให้เห็นธรรมชาติของวิทยาศาสตร์
 
สำหรับพุทธศาสตร์นั้น เกิดมาจากที่เจ้าชายสิทธัตถะได้พบสัจธรรม(ความจริงแท้) เรื่องวัฏจักรชีวิตของสัตว์โลกว่า มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย และสังเกตุหรือ ตระหนักได้ว่า สิ่งเหล่านี้เป็นทุกข์ที่ไม่มีใครในโลกใบนี้หลีกหนีพ้น ซึ่งเรื่องนี้กระทบใจของพระองค์มากเนื่องจากพระบิดาของท่านพยายามปิดบังความเสื่อมของมนุษย์ตลอดระยะเวลาที่ท่านได้เจริญเติบโตมา โดยให้ท่านได้เสวยสุขในเบญกามคุณทั้ง 5 อย่างเต็มเปี่ยม พบเห็นแต่สิ่งที่เจริญตา เจริญใจ ไม่เคยได้เห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย ดังนั้นเมื่อท่านได้มารับรู้ว่าชีวิตที่แท้จริงต้องประสบกับความทุกข์เช่นนี้ ซึ่งแม้แต่ท่าน และบุคคลที่ท่านรักทุกคนก็ต้องมีชะตากรรมเช่นเดียวกัน ท่านจึงรู้สึกตกใจ และ มีจิตเศร้าหมองมาก จึงคิดอยากหาทางหลุดพ้นจากความจริงอันโหดร้าย และได้ฉุกคิดว่ามันน่าจะมีหนทางแห่งการหลุดพ้นจากความทุกข์เหล่านี้ จึงตั้งสมมติฐานถึงวิธีการแห่งการหลุดพ้นในหลายรูปแบบ
 
ซึ่งตลอดระยะเวลาท่านได้ผ่านการพิสูจน์ทดลอง ด้วยการปฏิบัติมาหลากหลายวิธี เช่น เริ่มต้นด้วยการฝึกกับอาฬรดาบส และอุทกดาบส แต่พระองค์ก็พบว่าไม่ใช่หนทางแห่งการพ้นทุกข์ได้ จากนั้นจึงมาทดลองด้วยการทรมานตัวเอง ซึ่งก็มีหลากหลายวิธี เช่น อดอาหาร กดฟันบนกับล่างเข้าด้วยกันอย่างแรงตลอดเวลา อดกลั้นลมหายใจ ท่านได้ทำอย่างอุกฤษณ์ จนกระทั่งขนตามร่างกายร่วงหลุดเมื่อสัมผัสผิว ลูบท้องก็รู้สึกไปถึงหลัง (เพราะผิวหน้าท้องแบนติดกับผิวด้านหลังเนื่องจากขาดอาหารมานาน) และในที่สุดท่านก็ได้พิสูจน์ว่า สมมติฐานว่าการทรมานตัวเองคือทางหลุดพ้นนั้น เป็นหนทางที่ผิด ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์เลย เพราะท่านได้ทำมาจนถึงที่สุดที่มนุษย์ในโลกจะกระทำได้แล้ว (เนื่องจากท่านมีกายมหาบุรุษ ซึ่งแข็งแรงมาก จึงสามารถทนทานต่อการทรมานตนเช่นนี้ได้  ถ้าเป็นบุคคลทั่วไปคาดว่าร่างกายน่าจะทนไม่ไหวจนเสียชีวิตไปแล้ว)
 
ท่านจึงได้เปลี่ยนสมมติฐานมาเป็นการแสวงหาหนทางหลุดพ้นด้วยการฝึกทางจิต โดยท่านได้หวนระลึกไปถึงสมัยที่ท่านยังเยาว์วัย ครั้งที่ท่านได้นั่งหลับตาทำสมาธิใต้ต้นหว้าจนเข้าถึง “ปฐมมรรค” แล้วท่านรู้สึกมีความสุข สงบ มากท่านจึงได้ทดลองด้วยการฝึกจิตแทน โดยหันมารับประทานอาหารตามปกติให้มีเรี่ยวแรง ยึดหลักทางสายกลางในการปฏิบัติ จนในที่สุดท่านได้ฝึกจิตจนกระทั่งได้ตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในคืนวันเพ็ญขึ้น15 ค่ำ เดือน 6 “วันวิสาขบูชา”
 
ซึ่งในวันที่พระองค์ท่านได้ตรัสรู้ธรรมนั้น คงมีหลายๆ ท่านสงสัยว่า แล้วท่านตรัสรู้อะไร? แล้วท่านแน่ใจได้อย่างไร ว่าท่านได้พบหนทางแห่งความหลุดพ้นแล้ว?
 
จะขออธิบายเพิ่มเติม เราจะได้ทบทวนเหตุการณ์ในการบรรลุธรรมของท่านกันใบเบื้องต้นอย่างง่ายๆค่ะ  ในวันที่ท่านได้ฉันข้าวมธุปายาส ที่นางสุชาดา นำมาถวายแล้ว ลอยถาดทองคำอธิษฐาน เห็นนิมิตว่าในวันนั้นท่านจะต้องตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแน่นอน จึงได้นั่งลงที่รัตนบัลลังก์ แล้วตั้งสัจอธิษฐานว่า “แม้เลือดเนื้อจะแห้งเหือดหายไป เหลือเพียงแต่หนังหุ้มกระดูกก็ตามที หากไม่บรรลุธรรมในวันนี้จะไม่ลุกจากที่”  (อันนี้ต้องบอกเลยนะคะว่าอย่ามองผ่าน โดยส่วนตัวทุกครั้งที่ได้อ่านเรื่องราวการสั่งสมบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระอรหันต์ทั้งหลาย ก็มักจะลองนึกดูว่าถ้าเป็นเราจะทำได้ไหม พอนึกแบบนี้แล้วทำให้ตระหนักได้ว่าความเด็ดเดี่ยว มุ่งมั่นของพระพุทธองค์นั้นสุดประมาณค่ะ ท่านได้สละเลือดเนื้อ อวัยวะ ชีวิต มานับภพนับชาติไม่ถ้วนเพื่อสั่งสมบารมีจนกระทั่งมาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระชาติสุดท้าย ดังนั้นลองมาคิดเล่นๆ ดูค่ะ เอาแค่ว่าเราจะขอนั่งสมาธิไม่ลุกจากที่เป็นเวลา 7 ชั่วโมงต่อเนื่อง ซึ่งนี่เป็นการตั้งสัจจะ ต้องทำให้ได้ถ้าทำไมได้ก็จะเสียสัจจบารมี แบบนี้เรากล้าตั้งไหม? ถ้าไม่มั่นใจก็ไม่ตั้งสัจจะดีกว่า...ใช่ไหมคะ? ดังนั้นเมื่อฟังเรื่องราวของท่านแล้ว หากเรามองให้ท่านเป็นต้นแบบในการฝึกตัว ก็จะทำให้เรามีทิศทางในการฝึกตัวที่ถูกต้องค่ะ)
 
เมื่อท่านตั้งสัจจะดังนั้นแล้ว เทวบุตรมารจึงได้ยกทัพมาอย่างยิ่งใหญ่ หวังให้ท่านหวาดกลัวและเสียสัจจะลุกจากบัลลังก์นั้น แต่ท่านก็ไม่หวั่นไหวนึกถึงบุญบารมีทั้ง 30 ทัศน์ ที่สั่งสมมานับภพชาติไม่ถ้วน โดยมีพระแม่ธรณีเป็นพยานขับไล่กองทัพมารเหล่านั้นให้แตกพ่ายไป ท่านจังได้เจริญสมาธิต่อไปจากระดับสมถภาวนา จนกระทั่งเข้าถึง วิปัสสนาภาวนา รู้แจ้งเห็นแจ้งในทุกสรรพสิ่ง โดยในยามแรก บรรลุบุพเพนิวาสานุสติญาณ (การระลึกชาติได้) ยามที่สอง บรรลุจุตูปปาตญาณ (รู้เห็นการเกิดดับของสรรพสัตว์) และยามที่สาม อาสวักขยญาณ (การขจัดกิเลสจนหมดสิ้น) โดยเมื่อท่านบรรลุวิชชา 3 นี้แล้ว ท่านจึงได้เข้าใจสภาพของโลก และจักรวาลตามความเป็นจริงทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปรากฏการณ์ธรรมชาติบนโลก ระบบของจักรวาล รวมถึงกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของมนุษย์ทุกคน เช่น กฎแห่งกรรม รวมถึงได้เห็นแจ้งในทุกภพภูมิ ของชีวิตในปรโลก (ชีวิตหลังวามตาย) และอีกมากมาย ทั้งนี้เพราะผู้ที่ฝึกสมาธิจนถึงขั้นวิปัสสนา จะมีญาณทัสสนะที่จะสามารถรู้เห็นสิ่งเหล่านี้ได้ตามระดับความละเอียดของกำลังสมาธิ ดังนั้นการค้นพบความรู้ในสัจธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเป็นความรู้ที่ได้จากการฝึกจิต จนกระทั่งจิตนั้นมีพลัง มีความสว่าง สามารถรู้แจ้งในสรรพสิ่งได้ ที่สำคัญความรู้ที่ได้จากญาณทัสสนะนี้ เป็นความรู้ที่เป็นสัจธรรม เที่ยงแท้ ไม่แปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ไม่มีสิ่งใดสามารถมาลบล้างได้เลยตลอด กว่า 2,500 ปีที่ผ่านมา
 
มาถึงตรงนี้จะขอสรุปความเหมือนของพุทธศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ กันเลยนะคะ สิ่งที่เหมือนกันของทั้งสองอย่างนี้ก็คือ จุดกำเนิดซึ่งเกิดขึ้นจากความสงสัย ใคร่รู้ ในสรรพสิ่งรอบตัว จนกระทั่งมาถึงแนวคิดที่อยากจะค้นหาคำตอบเหล่านั้นให้ได้จริงๆ  ที่ไม่เพียงแต่เชื่อตามๆ กันมา แต่กลับพยายามหาข้อพิสูจน์ให้รู้จริงด้วยตนเอง เมื่อได้คำตอบแล้วก็พยายามเผยแพร่ความรู้เหล่านั้นออกไปสู่วงกว้าง เพื่อที่ทุกคนจะได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ได้ค้นพบนั้นอย่างเต็มที่
 
ในด้านของความแตกต่างกันคือ กระบวนการในการค้นหาความจริงนั้นแตกต่างกัน วิทยาศาสตร์จะมีกระบวนการในการพิสูจน์ความจริง ด้วยเครื่องมือที่เป็นวัตถุ จับต้องได้ มีการจัดระบบการค้นหาความจริงในระดับการทดลอง คือ มีการ set up ตัวแปรต่างๆ ขึ้นมาเพื่อค้นหาความจริงเฉพาะเรื่อง คำตอบที่ได้จึงอาจมีการเปลี่ยนแปลงในภายหลัง หากมีการค้นพบตัวแปรต่างๆ เพิ่มเติมขึ้นมา
 
สำหรับการค้นหาความจริงในพระพุทธศาสนานั้น ทำโดยการฝึกจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ เพราะจิตนั้น ว่องไว มีพลังอันยิ่งใหญ่ หากเราสามารถเข้าถึงขุมพลังนี้ เหมือนอย่างที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้เข้าถึง สัจธรรมความจริงทั้งหลายจะเปิดเผยออกมา ไม่เพียงแค่เรื่องราวปรากฏการณ์ หรือ ธรรมชาติบนโลกใบนี้เท่านั้น ยังรวมไปถึงเรื่องชีวิตหลังความตาย และภพภูมิต่างๆ อีกด้วย  ดังนั้นการค้นหาความจริงแนวพุทธนั้นจึงครอบคลุมความรู้ที่สมบูรณ์ และมีผลให้เราสามารถหยุดการเวียนว่ายตายเกิดได้เลยทีเดียว
 
บางท่านกล่าวว่าความรู้ในพระพุทธศาสนาเป็นความรู้ที่อยู่นอกเหนือการพิสูจน์...ต้องตอบว่าไม่จริงค่ะ...เนื่องจากความรู้ที่ได้นั้นเป็นความรู้เฉพาะตน ผู้ปฏิบัติสามารถเข้าถึงได้ พิสูจน์ได้ด้วยตนเองเท่านั้น ในเรื่องที่พอจะปฏิบัติจนเห็นตามได้นั้น ส่วนมากเป็นเรื่องในปัจจุบันที่พิสูจน์กันได้ไม่ยาก โดยนำหลักธรรมต่างๆ มาลองใช้จริงในชีวิต เช่น  หากอยากเป็นที่รักของผู้คนให้ยึดหลัก สังคหวัตถุ 4 (ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา และสมานัตตา) หากกระทำตามอย่างเคร่งครัด ฝึกให้เป็นนิสัย ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็จะมีแต่คนรักใครชื่นชม เป็นต้น  ถ้าคุณไม่เชื่อก็ลองทำดู หรือบางทีแค่ตรองตามก็พอจะมองออกว่าเป็นความจริงแท้ แต่ยิ่งถ้าได้กระทำอย่างจริงจัง จะยิ่งตระหนักด้วยตนเองอย่างลึกซึ้งว่าได้ผลจริงอย่างไร 
 
แต่สำหรับความรู้ที่เป็นเรื่องลึกซึ้งนั้นอาจจะพิสูจน์กันได้ไม่ง่ายนัก เช่น เรื่องของกฎแห่งกรรม นรก สวรรค์ แต่ก็ใช่ว่าจะพิสูจน์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเราได้ลงมือทำอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง และถูกหลักมาแค่ไหน แต่ขอเพียงแต่ให้ทุกคนอย่างเพิ่งตัดสินว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มีจริง หรือ เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านแต่งขึ้นมาเพื่อสอนคนเท่านั้น เพราะแม้เราจะยังพิสูจน์ด้วยตนเองไม่ได้ แต่ก็มีหลายๆคนที่สามารถพิสูจน์ได้  เช่น พระเกจิอาจารย์หลายองค์ที่ท่านไปนรก สวรรค์ได้ มีญาณทัสสนะ หยั่งรู้จิตใจคนได้ หรือ มีอีกหลายๆกรณีศึกษา ที่พบว่าการระลึกชาติได้นั้นเป็นเรื่องจริง เป็นต้น ดังนั้นขอให้ทุกท่านได้ลองทำตามแนวทางวิทยาศาสตร์ และพุทธศาสตร์ คือ อย่างเพิ่งเชื่อ หรือ ด่วนปฏิเสธจนกว่าจะได้พิสูจน์ด้วยตนเองนะคะ


credit photo from: http://www.buddhism-foundation.org/en/buddhist-art-culture-projects/buddhism-and-science/
Tag : พุทธศาสนา วิทยาศาสตร์ science buddhism พุทธ วิทย์ เหมือน ต่าง

Comments to this story

Write a comment


1.  views readmore
ALL Most Viewed
ALL TOP Rated
1.  comments readmore
ALL Most Comment